“พิพัฒน์” ยกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้น “พื้นที่พิเศษท่องเที่ยวยั่งยืน” ปั้นรายได้ต่อปี 4 หมื่นล้าน

18 มิ.ย. 2565 – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอ ซึ่งจะครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง และบางกล่ำ) จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ (อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสนและควนขนุน) และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ (อำเภอชะอวด และหัวไทร) รวมเนื้อที่ประมาณ 5,553.260 ตารางกิโลเมตร

จุดเด่นของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” หนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่มีศักยภาพ มีคุณค่าและความโดดเด่นทั้ง 3 ด้าน คือ ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สามารถพัฒนาและต่อยอดเชิงสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นรูปแบบการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง มีเอกลักษณ์ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันพบประเด็นปัญหาของแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมไม่ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐาน มีการบุกรุกทำลาย ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เสี่ยงที่จะสูญหาย ไม่ได้รับการสืบทอด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่องของนโยบายหรือแผนงานด้านการท่องเที่ยว การพัฒนากระจุกตัวจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดเป็นรายได้

การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ จะทำให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เกิดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้ อพท. จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเสนอต่อที่ประชุม ท.ท.ช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่ง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์จะมุ่งดำเนินงานใน 5 เป้าหมายคือ พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อมุ่งสู่ชุมชนแห่งความสุข สร้างเสริมและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ประสานความร่วมมือทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางของหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)

โดยการพัฒนาจะก่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 จังหวัด ภาคีทุกภาคส่วนยังได้รับการพัฒนายกระดับโดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (Community Based Tourism : CBT) เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ความหลากหลายของชาติพันธุ์และความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม ให้เป็นจุดขายของการท่องเที่ยว เกิดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว มีองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ผ่านการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวและนโยบายการพัฒนาต่างๆ ทำให้การพัฒนาของภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง เกิดชุมชนต้นแบบในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายผลักดันให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับ มาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และ Green Destination TOP-100 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุน กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะพัฒนาและยกระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบแห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และต้องสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวและแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้จะทำให้การพัฒนาของภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ มีความชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดำเนินงานรวมกว่า 200 โครงการผ่านหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถี เขา-โหนด-นา-เล ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว


ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ อพท. จะดำเนินการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (Kick off) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 24 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 57 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 22 แห่ง ให้มีความพร้อมและมีคุณภาพและมีขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) รวมถึงส่งเสริมแนวทางการท่องเที่ยวในวิถีใหม่ พัฒนามาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว และการบริหารจัดการให้สามารถผ่านการรับรองตามมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ตามนโยบายการท่องเที่ยวสีขาวของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่มุ่งเสริมสร้างการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ส่งเสริมขับเคลื่อนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น อพท.ยังวางแผนนำศักยภาพของพื้นที่ นำมาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว (Routing) ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จำนวน 5 เส้นทาง เพื่อสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อน “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก โดยมีการประมาณการว่าจากการพัฒนาตามแผนงานระยะ 5 ปี จะส่งผลให้ทั้ง 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช มีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าพื้นที่ราวปีละ 7 – 8 ล้านคน สร้างรายได้ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวรวม 3 จังหวัดราว 6 ล้านคน มีรายได้ราว 3 หมื่นล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิพัฒน์” ลุยเพื่อแรงงาน ถกประกันสังคมเอสโตเนีย ยกระดับบริการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี

"พิพัฒน์“ รุก! เพื่อแรงงาน เพิ่มรายได้กองทุนฯ พบบริษัทจัดการสินทรัพย์สวีเดน กางแผนผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ย 8 -10% ต่อปี เพื่อกองทุนยืน

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี

‘พิพัฒน์’ห่วงแรงงานไทย นำคณะ ถก ! ระบบบำนาญสวีเดน สร้างมาตรฐาน พัฒนาบริการผู้ประกันตน รองรับสังคมสูงอายุ

มื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) รวมถึงผู้บริหาร

'พิพัฒน์' ย้ำสิทธิประโยชน์อาชีพอิสระ มอบทุนซื้อบ้าน เงินทดแทนเจ็บป่วย เงินทุพพลภาพตลอดชีวิต บำเหน็จชราภาพ ด้วยประกันสังคมมาตรา 40

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นรุ่นแรก เป็นจังหวัดซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภาคใต้ ประกอบอาชีพอิสระกว่า 500,000 คน

“พิพัฒน์” กำชับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ร่วมสร้างเกราะป้องกันในสถานประกอบการ ดูแลคนทำงาน ลดการสูญเสีย มุ่งเป้าลดอันตรายร้ายแรง 1:1,000 คน

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ.2567” ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 .

‘พิพัฒน์’ คาดชงชื่อกรรมการค่าจ้างเข้า ครม.อังคารนี้ มั่นใจขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้ผู้ใช้แรงงาน ทันแน่นอน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน