ดีเซลชนเพดาน กบน.ลั่นขึ้นราคาอีก 1 บาท/ลิตร โอดภาวะน้ำมันตลาดโลกปรับสูงต่อเนื่อง เผยปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันติดลบมากกว่า 91,000 ล้านบาทแล้ว ด้านพลังงานแย้มค่าการกลั่นผันผวนตามความต้องการใช้น้ำมันเพิ่ม พร้อมโชว์ผลสรุปย้อนหลัง 10 ปี
13 มิ.ย. 2565 – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำดีเซลลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลปรับจากลิตรละ 33.94 บาท เป็นลิตรละ 34.94 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป สาเหตุของการปรับราคาเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) อยู่ที่ 172.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (10 มิ.ย. 65) เพิ่มขึ้นจากเดิมสัปดาห์ก่อนที่ราคา 158.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (2 มิ.ย. 65)
โดยราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วงต้นสัปดาห์เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือน พ.ค. และจีนที่เริ่มทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของจีนคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และถึงแม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 648,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ซึ่งมากกว่าข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 432,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ก.ย. แต่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจริงจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกำลังการผลิตสำรอง ของกลุ่มมีจำกัดและส่วนใหญ่อยู่ที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ ราคาเริ่มปรับตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากสหรัฐฯ อนุญาตให้ Eni SpA และ Repsol SA บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของอิตาลีและสเปน ซึ่งจะสามารถดำเนินการขนส่งน้ำมันจากเวเนซุเอลามายังยุโรปได้โดยเร็วที่สุดภายในเดือนหน้า เพื่อรองรับการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย นอกจากนี้ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขน้ำมันมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 3 มิ.ย.65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.85 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล ตลอดจนการ ล็อกดาวน์บางพื้นที่ของเมืองเซียงไฮ้เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและตรวจหาเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ตามการกลั่นน้ำมันที่จะมาทดแทนน้ำมันรัสเซียเพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันก็ไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นช้ามาก ขณะที่ปัจจุบัน ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 12 มิ.ย. 65 ติดลบ 91,089 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 54,574 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 36,515 ล้านบาท
ด้าน นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวว่าจากกระแสข่าวที่มีการเปรียบเทียบค่าการกลั่นกับต่างประเทศว่าไทยสูงกว่าเป็น 10 เท่านั้น อาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สพน.) มีการเผยแพร่ค่าการกลั่นมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะการเผยแพร่จะเป็นรูปแบบการคำนวนจากตัวเฉลี่ยของราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศ กับค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่โรงกลั่นมีการกลั่นและมาหักกับค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบจาก 3 แหล่งได้แก่ จากดูไบ โอมาน และทาปีส โดยค่าการกลั่นเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปี 65(ม.ค. – พ.ค.) อยู่ที่ประมาณ 3.27 บาทต่อลิตร
ขณะที่ในเดือน พ.ค. อย่างเดียวนั้นค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.02 บาทต่อลิตร ซึ่งยอมรับว่าเป็นการเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่เป็นผลมาจากความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อราคาน้ำมันและค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นหากนำค่าการกลั่นในเปรียบเทียบกับช่วงปี 2563-2564 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ประมาณ 70-89 สตางค์ต่อลิตร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีอื่น ๆ อย่างเช่นตั้งแต่ปี 2555 ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 2.15 บาทต่อลิตร , ปี 56 อยู่ที่ 2.2 บาทต่อลิตร , ปี 57 อยู่ที่ 2.35 บาทต่อลิตร , ปี 58 อยู่ที่ 2.43 บาทต่อลิตร , ปี 59 อยู่ที่ 1.83 บาทต่อลิตร และปี 60 อยู่ที่ 2.16 บาทต่อลิตร
“จะเห็นได้ว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อลิตรมาโดยตลอด และจะปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาและความต้องการใช้ในตลาดโลก ขณะที่ปัจจุบันที่เกิดวิกฤติทางราคาพลังงานจนทำให้เกิดความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนั้นก็ส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”นายสมภพ กล่าว