‘อุตสาหกรรม’ยิ้มรับบาทอ่อนส่งออกคึกคัก

‘ก.อุตฯ’ เผยค่าเงินบาทอ่อนหนุนส่งออก ดันราคาสินค้าไทยถูกลง ขายได้มากขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย แนะผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยง ใช้วัตถุดิบทดแทนการนำเข้า

13 มิ.ย. 2565 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ศึกษาผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน (ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 34.46 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 30 ธ.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 33.38 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นบวกต่อการส่งออก ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงและสามารถส่งออกได้มากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการนำเข้าวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการผลิตพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันตามสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสัดส่วนการส่งออกสินค้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาทโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติมหภาค กรณีถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าลง 5% ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (RGDP) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.40% ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.35% มูลค่าการส่งออกเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.14% มูลค่าการนำเข้าเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.94% ด้านการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.21% เนื่องจากผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.31% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 0.57%

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตสามารถแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตเป็นหลักและมีการส่งออกมาก ทำให้ได้รับประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นมากกว่าผลเสียจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้น ได้แก่ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น

กลุ่ม 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบมากและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

กลุ่ม 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ได้พึ่งพิงตลาดส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ ยานยนต์ จักรยานยนต์ ยาสูบ เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และคอมพิวเตอร์) เป็นต้น
กลุ่ม 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้ามากและสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มผู้นำเข้าหลักที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่าประโยชน์จากรายรับจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ยารักษาโรค น้ำมันดิบ และน้ำมันสัตว์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชงครม.เคาะรถไฟสายสีส้มวันนี้ เตรียมลงนามสัญญา BEM คาดประชาชนได้ใช้ปี 71

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีกระทรวงคมนาค

‘สุริยะ’ สั่ง รฟม. ลงโทษ ’NBM‘ เหตุประตูรถไฟฟ้าเปิดกลางทางขู่ลงดาบแบล็กลิสต์

‘สุริยะ’เอาจริง มอบ รฟม. ส่งหนังสือถึง ‘NBM’ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู จ่อดำเนินการตามบทลงโทษขั้นสูงสุด หลังเกิดเหตุประตูขบวนรถเปิดกลางทาง ลั่นไม่สามารถประนีประนอมหรือต่อรองได้ ย่ำหากไม่ปรับปรุงจ่อลงดาบแบล็กลิสต์

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค ตั้งเป้าติด TOP 20

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค เผยสถิติ 8 เดือน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81.05 ล้านคน คมนาคมตั้งเป้าผลักดันติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 72 รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนในปี 77