ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยปรับเป้าเงินเฟ้อไทยปี 65 ขึ้นเป็น 5.6%จับตา กนง. เตรียมขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง รับการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อเนื่อง
10 มิถุนายน 2565 – ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยการประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ 7.1% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักเมื่อมองไปข้างหน้า รวมถึงการลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ลดลง และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออื่น ๆ ส่งผลให้ซิตี้จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็น 5.6% จากเดิม 4.3% หลังคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.50% เป็น 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักมากขึ้นกับการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ อีกทั้งการประชุม กนง. ในเดือนมิถุนายน มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่ามีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าการฟื้นตัวยังคงไม่เท่ากันในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ความจำเป็นในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ลดลงตามลำดับ
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ที่ 5.9% และเดือนเมษายนที่ 4.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นเป็น 2.3% จาก 2.0%ในเดือนเมษายน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 5.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% ด้านกลุ่มพลังงานและอาหารยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 35.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากอัตราการเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ 29.7% ตามราคาน้ำมันดิบโลก และการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า และน้ำประปา ปรับเพิ่มขึ้น 6.7% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนเมษายนที่ขยายตัว 1.0% เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อน ต้นทุนผันแปรทางไฟฟ้าที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นของราคาก๊าซหุงต้ม ด้านกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในเดือนพฤษภาคมได้ปรับขึ้นเป็น 6.2% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ส่วนใหญ่จากราคาเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ส่งผลให้ราคาของสินค้าและบริการอื่น ๆ ทยอยปรับขึ้นสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด เช่น กลุ่มการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ซิตี้ได้มีการปรับเพิ่มการประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 สูงขึ้นเป็น 5.6% จากก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ที่ 4.3% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 จะมีค่าเฉลี่ยที่ 2.0% จากเดิม 1.3% โดยได้คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุด บวกกับการปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบของทีมงานวิจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของซิตี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยในปี 2565 ซิตี้คาดว่าน้ำมันดิบเบรนท์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (จาก 89 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้) และในปี 2566 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (จาก 59 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้) นอกจากนี้ การปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเป็น 34 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อาจจะส่งผลให้มีการปรับราคาในระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะภาคการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐที่ออกมาในช่วงเดือนมีนาคมเผื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานจะเริ่มหมดอายุลง และอาจนำไปสู่การส่งผ่านของต้นทุนที่ไปยังผู้บริโภคมากขึ้น และความเสี่ยงต่อเงินเฟ้ออีกประการคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 (อาจสูงถึง 5-10% หรือมากกว่าการปรับขึ้นในปี 2560 2561 และปี 2563 ที่ราว 3%)
นอกจากนี้ซิตี้ได้คาดการณ์ว่า กนง.มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% หลังจากเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมสะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นและกระจายไปมากกว่าที่คิด โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักความสำคัญในด้านการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไป หลังจากที่ได้ให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลักในช่วงก่อนหน้า แม้ว่า กนง. ได้ลงมติเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในเดือนมิถุนายน โดยไม่ได้ปรับขึ้นตามที่ซิตี้คาดไว้ แต่การส่งสัญญาณการปรับทิศทางนโยบายการเงินเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่สมาชิก กนง. สามท่านโหวตให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ รวมถึง กนง. ที่มองว่าความจำเป็นในการรักษาอัตรานโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์มีน้อยลง หลังเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน กนง. ยังแสดงความเป็นห่วงด้านแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงข้างหน้า ซิตี้จึงคาดว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากเดิมที่ 0.50% เป็น 0.75% ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนสิงหาคม เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ และป้องกันการกระจายของแรงกดดันด้านราคาเป็นสำคัญ โดยผลสำรวจของครัวเรือนและภาคธุรกิจเดือนพฤษภาคมต่อการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 1 ปีข้างหน้าได้ปรับสูงเกินเป้าหมายนโยบายมาอยู่ที่ 3.1% และ 3.5% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ซิตี้มองว่า กนง. จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยมากกว่าหนึ่งครั้งในปีนี้ เนื่องจาก ธปท. ยังคงคาดการณ์ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโรคระบาดโควิดได้ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สำหรับปี 2566 ซิตี้คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สองครั้ง คือในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 ของปี โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงนั้นน่าจะมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการปรับนโยบายเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%