'กอบศักดิ์' หวั่นราคาปุ๋ยแพงเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต ผลกระทบซ้ำเสริมกัน ลุกลามเกินกว่าที่คาด

'กอบศักดิ์' หวั่นราคาปุ๋ยแพงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤต ผลกระทบจะเกิดเป็นระลอก ซ้ำเสริมกัน พลังงานราคาขึ้น ผลผลิตการเกษตรลดลง วิกฤตอาหารโลกอาจลุกลามเกินกว่าที่ทุกคนคาด แต่ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ

3มิ.ย.2565-นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง ปุ๋ยแพง !!! มีเนื้อหาดังนี้

ในวิกฤตอาหารโลกรอบนี้ สิ่งที่คนยังไม่ค่อยพูดถึงกันมาก ก็คือ ปุ๋ยแพง

ล่าสุด ดัชนีราคาปุ๋ยโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 100 เมื่อก่อนโควิด เป็นประมาณ 325.5 ณ สิ้นเมษายนที่ผ่านมา
เพิ่มขึ้น 3X หรือ 3 กว่าเท่าตัว !!!
โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากทุกด้านของปุ๋ย N P K
ราคายูเรีย เพิ่มเป็น 707.5 จาก 245.3 (+188%)
ราคาหินฟอสเฟต เพิ่มเป็น 255.0 จาก 88.0 (+190%)
ราคาโปแตสเซี่ยมคลอไรด์ เพิ่มเป็น 562.5 จาก 255.5 (+120%)

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัสเซียและเบลาลุส ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญของโลก
สำหรับปี 2021
ปุ๋ยไนโตรเจน - รัสเซียส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 15% ของโลก
ปุ๋ยฟอสเฟต - รัสเซียส่งออกเป็นอันดับสอง ประมาณ 17% ของโลก
ปุ๋ยโปแตสเซี่ยม - รัสเซีย+เบลาลุส รวมเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 35-36% ของโลก

ดังนั้น การ Sanctions รัสเซียและพันธมิตร กำลังนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนปุ๋ย และการเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยในประเทศต่างๆ
ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าวสาลี ที่ผลิตจากรัสเซียและยูเครน
ราคาอาหารโลกจึงเพิ่มสูงขึ้นจนทุกคนต้องกังวลใจในขณะนี้ นอกเหนือไปจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซ ที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้า
โดยผลกระทบจะเกิดเป็นระลอก ซ้ำเสริมกัน
- เมื่อพลังงานราคาขึ้น สินค้าเกษตรบางส่วนก็จะถูกนำมาใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน
- เมื่อราคาพลังงานราคาขึ้น การผลิตปุ๋ยต่างๆ ก็จะแพงขึ้น เพราะในการผลิตต้องใช้พลังงานเข้าไปร่วมด้วย
- เมื่อต้นทุนการผลิตปุ๋ยแพงขึ้น บวกกับวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยขาดแคลน ก็จะส่งผลต่อราคาปุ๋ยในที่สุด
สำหรับเกษตรกร
- เมื่อปุ๋ยแพงขึ้นมาก มากกว่าราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่ม สุดท้ายเกษตรกรทั่วโลกก็จะเลือกประหยัดปุ๋ย ใส่ปุ๋ยให้น้อยลง
- เมื่อใส่ปุ๋ยน้อย ผลผลิตในฤดูกาลที่จะถึงก็จะลดลงอย่างมีนัยยะ
- เมื่อผลผลิตน้อย ผลผลิตบางส่วนถูกเอาไปผลิตเป็นพลังงาน ราคาอาหารโลกก็จะแพงยิ่งขึ้นไปอีก
ซ้ำร้าย ในระดับรัฐบาล

อย่างที่เราเห็นกัน บางประเทศอาจเลือกห้ามส่งออกสินค้าเกษตรบางตัว ซ้ำเติมให้ราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นอีกรอบ
นำไปสู่เรื่อง Food Protectionism ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ท้ายสุด วิกฤตอาหารโลกก็อาจลุกลามเกินกว่าที่ทุกคนคาด

ทั้งหมดนี้ โชคดีที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร โดยรวมแล้วเราคงจะได้รับประโยชน์ ราคาปาล์ม ราคายาง ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อครอบครัวเกษตรกรไทยนับ 20 ล้านคน
แต่หัวใจที่จะเป็นจุดตาย ก็คือเรื่องปุ๋ยแพง
ถ้าเราเตรียมการและบริหารจัดการเรื่อง "ปุ๋ยแพง" ได้ วิกฤตอาหารโลกรอบนี้จะกลายเป็นโอกาสอย่างยิ่งของประเทศไทยและคนไทย

อย่างที่เขาชอบพูดกัน "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" อยู่ที่ว่าเราจะหยิบฉวยโอกาสนั้นได้หรือไม่
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

#ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ #ปุ๋ยแพง #วิกฤตอาหารโลก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Surviving the Great Disruption

ช่วงต่อไปของเศรษฐกิจ คงต้องเรียกว่า The Great Disruption ที่ต้องเรียกเช่นนี้ก็เพราะ ความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า 

'ภาคเอกชน' เยือนจีน ให้คะแนน 'เซลล์แมนเศรษฐา' เกินร้อย พร้อมเป็นสะพานเชื่อม

'ภาคเอกชน' ให้คะแนน 'เซลล์แมนเศรษฐา' เกินร้อยยันนโยบายรัฐบาลได้ประโยชน์ - ตรงเป้าหมายเอกชน 'สนั่น' เห็นด้วยดิจิทัลวอลเล็ต แต่แนะใช้แพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่ เพราะทำได้ทันที สภาอุตฯ พร้อมไปกับนายกฯ สมาคมธนาคารไทยยินดีเป็นสะพานนำนักธุรกิจจีนเข้าไทย

‘ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.’ จับมือ สสว.- สวส. ร่วมส่งเสริม SME ในชุมชนขายสินค้าในตลาด Online

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พร้อมด้วยนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และที่ปรึกษา นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)