สนพ.จับตาค่าการกลั่น เตรียมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องทบทวน ก่อนชงเรื่องเข้าอนุกรรมการ กบง. คาดชัดเจนในเดือนนี้ ชี้ 5 บาท/ลิตรยังสูง แต่ต้องพิจารณาต้นทุนก่อน พร้อมกางแผนดันอุตฯอีวีบูมต่อเนื่อง
3 มิ.ย. 2565 – นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์น้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย ล่าสุดอยู่ระดับ 5 บาทต่อลิตร ในช่วงเดือนเมย.-พ.ค จากค่าเฉลี่ยอ้างอิงระดับกว่า 2 บาทต่อลิตร ดังนั้น สนพ.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในคณะอนุกรรมการที่ดูราคาการกลั่น ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมเรียกกลุ่มโรงกลั่นมาหารือถึงต้นทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้
“ค่าการกลั่นระดับ 5 บาทฯ ถือว่าสูง แต่ต้องดูว่าต้นทุนแท้จริงในการซื้อน้ำมันดิบ แหล่งซื้อ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของเอกชนผู้นำเข้า เมื่อคำนวณแล้วออกมาเท่าไหร่ จะเหมาะสมหรือไม่ หรือควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะกลุ่มโรงกลั่นอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันในภาวะปัจจุบัน ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ขณะที่หากค่าการกลั่นลดลงราคาน้ำมันก็จะลดลงเช่นกัน”นายวัฒนพงษ์ กล่าว
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังจากนี้คาดว่าอาจไม่พุ่งแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ช่วงที่เหลือของปีคาดอยู่ระดับ 105 – 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะขณะนี้กลุ่มประเทศยุโรป(อียู) ผู้ใช้พลังงานจากรัสเซียเริ่มปรับตัว โดยหันไปใช้แหล่งพลังงานอื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะปล่อยน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชลออยล์) ออกมามากขึ้ยเพื่อป้อนตลาด เพราะราคาจูงใจ แม้จะมีปัญหาเรื่องคาร์บอนอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคงมีการอนุโลม
นายวัฒนพงษ์ กล่าวถึงความต้องการใช้พลังงานไทยปีนี้ ว่า คาดจะเติบระดับ 2.1% ภายใต้สมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) โต 2.5-3.5% อัตราแลกเปลี่ยน 33.3-34.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 105-110 เหรียญ และจีดีพีโลก 3.5% ขณะที่การใช้พลังงานขั้นต้นรายชนิดพบว่าเติบโตเกือบทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลง 9.5% จากราคาที่ปรับสูงมากจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนผู้ใช้หันไปพึ่งพาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทน ขณะที่การใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.9% ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 6.8% และไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า 8.2%
“ภาพรวมยอดใช้พลังงานเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกและการเปิดประเทศ แต่การระบาดของโควิด-19 และผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจส่งผลต่อการใช้พลังงานของไทยได้”นายวัฒนพงษ์กล่าว
นายวัฒนพงษ์ กล่างในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ด EV ชาติ) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง
ในส่วนของมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และกรมสรรพสามิตพิจารณา
“ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต”นายวัฒนพงษ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วัชระ' ล่าชื่อปชช. เตือน 'นายกฯ-ครม.' บ้าจี้ให้ยุบโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ จะยื่นป.ป.ช.สอบทันที
'วัชระ' ส่งรายชื่อประชาชน 207 คน ที่คัดค้านการยกเลิกโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ จ.สุราษฎร์ธานี ขู่ ครม.แพทองธาร อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ยุบเลิกและไปยกให้บริษัทเอกชนสร้างที่จ.ราชบุรี จะยื่นเรื่องร้องเรียนให้สำนักงาน ป.ป.ช. สอบสวนทันที
'พีระพันธุ์' เผยร่างกฎหมายพลังงานเสร็จแล้ว วางระบบใหม่ทั้งหมด ราคาเป็นธรรมเหมาะสม
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการนำเสนอนโยบายของ รทสช.ต่อรัฐบาล