ประชาชนแห่สนใจติดโซลาร์รูฟขายไฟให้รัฐ กกพ.ชี้มีมากกว่า 1,000 ราย

กกพ.เปิดแผนลุยโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 65 มั่นใจประชาชนจ่อเข้าร่วมเพียบ หลังสรุปยอดโครงการล่าสุดตั้งแต่ปี 62 มีผู้เข้าร่วมซื้อขายไฟแล้วหลัก 1,000 ราย ปริมาณรวมกว่า 7 เมกะวัตต์

30 พ.ค. 2565 – นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากกกพ. มีมติเห็นชอบประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ปี 2565 เป้าหมาย 10 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องจากการดำเนินการในปี 2564 เพื่อสอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสงค์จะขายไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ส่วนเกินให้กับสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (ซีโอดี) ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และหากดำเนินการไม่ทันตามกำหนดให้ยื่นหนังสือถึงการไฟฟ้าแจ้งความพร้อมเพื่อขอขยายเวลาได้อีก 90 วันก่อนยกเลิกสัญญา

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปในบ้าน ที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและสามารถนำส่วนที่เหลือมาขายเข้าระบบได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวน และมีราคาสูงจากผลของภาวะวิกฤตการณ์ราคาพลังงานโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้โดยคาดว่าปีนี้ ประชาชนน่าจะมีความสนใจมากกว่าเดิม เพราะด้วยความคุ้นชินแล้วจากการเปิดรับซื้อตั้งแต่ปี 2562 บวกกับที่กกพ.ได้ปรับราคารับซื้อและกฏระเบียบเพื่ออำนวยตวามสะดวกมากขึ้น

“ประชาชนน่าจะคุ้นเคยในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะดูจากเทรนด์ราคาพลังงาน ประชาชนน่าจะสนใจมากขึ้น โดยข้อมูลที่ผ่านมาประชาชนเข้าโครงการไม่น้อยราว 1,000 ราย แต่จำนวนเมกะวัตต์ยังน้อยรวมราว 7 เมกะวัตต์ เฉลี่ย 1 ราย ขายไฟอยู่ที่ระดับ 5 กิโลวัตต์ เนื่องจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเมื่อตรวจรีดเดอร์จะกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10 กิโลวัตต์ แต่ส่วนใหญ่จะได้ 5 กิโลวัตต์”นายคมกฤช กล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า ในอดีตประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาจะนิยมติดตั้งไว้ใช้เอง แต่ปัจจุบันเมื่อมีนโยบายรับซื้อจากภาครัฐ ประชาชนจะเห็นประโยชน์จากการติดตั้งใช้เองแล้วขาย เพราะถ้าติดใช้เองแล้วไม่ขายจะถูกล็อคไม่ให้ไฟไหลย้อนกลับมา ฉะนั้น เวลาไม่ใช้ไฟอินเวอร์เตอร์ (Inverter) จะไปล็อคไม่ให้มีการผลิตไฟฟ้า ถือว่าไม่มีประโยชน์หรือถ้าไฟไหลออกไปก็ไม่ได้เงิน ดังนั้น โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเมื่อติดแล้วขายไฟจะเป็นการช่วยให้มีรายได้ด้วย

“การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามที่อยู่อาศัยถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนมากกว่าว่า ช่วยประหยัดไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือต้องการเรื่องสิ่งแวดล้อม การติดตั้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งความคุ้มทุน หากเน้นใช้กลางคืนจะติดระบบแบตเตอรี่ (ESS) ที่ต้องลงทุนเพิ่ม พร้อมโครงสร้างที่เอื้อต่อการติดตั้ง มองว่าค่าไฟฟ้าปี 2565 ที่ปรับตัวสูงจะทำให้ประชาชนสนใจติดตั้งมากขึ้น”นายคมกฤช กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกพ. เผยความสำเร็จ 13 ปี ในการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ต่อยอดกิจกรรม “การประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ครั้งที่ 4 “ERC AWARDS 2024”

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยความสำเร็จตลอด 13 ปี ในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สานต่อกิจกรรม “การประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประจำปี พ.ศ. 2567” หรือ “ERC AWARDS 2024”

'พีระพันธุ์' แย้มข่าวดี! ตรึงค่าไฟ 3.99 บาท กลุ่มเปราะบาง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและพลังงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนภายหลัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวด ม.ค. -เม.ย. 2567