ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ มากมายนั้น ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ก็ได้มีแผนดำเนินงานในหลายด้านเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน ลำดับแรกคือ การประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำจนเกินไป และยังพอทรงตัวได้เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ลำดับต่อมาคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูหลังจากที่วิกฤตได้ผ่านพ้นไป เพื่อพัฒนาให้เศรษฐกิจภายในประเทศคืนกลับมาให้แข็งแรงเหมือนเดิม และเป็นแต้มต่อให้กับประเทศในการที่จะใช้ต่อสู้กับคู่แข่งได้
ขณะเดียวกัน โครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นหนึ่งในแผนงานหลักที่จะดันให้เกิดการลงทุนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศมาตลอด 4 ปี แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตที่ผ่านมา อีอีซีก็ยังเป็นหนึ่งในโครงการที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นความหวังของรัฐบาลอยู่ว่าจะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ทำการสรุปผลงานและความสำเร็จใจช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผ่านงาน “4 ปี อีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติอย่างยั่งยืน” โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี และนำผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านต่างประเทศ นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี และนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน ร่วมกันเสวนา
โดยจากงานดังกล่าวได้สรุปความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ จากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และความร่วมมือที่ดีจากเอกชนและประชาชนทุกภาคส่วน ดังนี้...
ผลักดัน PPP ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักครบ
อีอีซีได้ผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงฯ, สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง 36% แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท ทำให้ประเทศก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐ เกิดความร่วมมือของภาคเอกชนไทย เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทยมีรายได้ดี มั่นคงยั่งยืน โดยการลงทุนรูปแบบ PPP ยังได้สร้างต้นแบบ โปร่งใสรัดกุุม ตรวจสอบได้ ประเทศได้ประโยชน์สูงสุุด
ขณะที่ ความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ นั้น จะส่งมอบพื้นที่จนครบ 100% และเอกชนได้เข้าลงทุนตามแผน เช่น งานปรับพื้นที่ งานสร้างถนนและสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง และก่อสร้างต่อเนื่องใช้เวลา 4 ปี โดยส่วนเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ส่วนภาครัฐ งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จสมบูรณ์ งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 ก้าวหน้า 85% และเอกชนคู่สัญญาได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมการก่อสร้างแล้ว คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568
โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดได้เริ่มต้นการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) สำหรับท่าเทียบเรือ F โดยทั้ง 4 โครงการหลัก อีอีซีขอยืนยันว่าจะร่วมมือกับเอกชนอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย เดินหน้าก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามแผน ประโยชน์สูงสุดให้คนไทยทุกคน
ส่งเสริมพันธมิตรทางธุรกิจ ดึงเอกชนระดับโลกลงทุน
บทบาทสำคัญของอีอีซี ได้สร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ โดยการลงทุนในระยะที่ 1 อีอีซีทำได้สำเร็จเร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ใช้เวลาเพียง 4 ปี (2561-2564) อนุมัติมูลค่าการลงทุนได้กว่า 1,722,720 ล้านบาท ใช้งบประมาณรัฐเพียง 5% จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก (2561-2565) เป็นการลงทุนจาก
1.โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 654,921 ล้านบาท 2.การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากบัตรส่งเสริมลงทุนบีโอไอ) มูลค่า 985,799 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการออกบัตรฯ อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ ท่องเที่ยว และการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแพทย์มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 517% ทั้งนี้ 5 ลำดับประเทศที่ลงทุนสูงในพื้นที่ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสวิตเซอร์แลนด์ และ 3.การพัฒนาพื้นที่ผ่านแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานกว่า 30 แห่ง มูลค่า 82,000 ล้านบาท เกิดการใช้งบประมาณพัฒนาพื้นที่คุ้มค่าสูงสุด
ความก้าวหน้าต่อไป อีอีซีได้วางแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง วิจัยพัฒนาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 2572
ต่อยอดใช้ 5G ขับเคลื่อนนวัตกรรมขั้นสูง
การใช้ 5G ในพื้นที่อีอีซี ได้ติดตั้งสัญญาณครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง โดยต่อยอดพัฒนาในภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาในระดับชุมชน และด้านการจัดการข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้ชุมชนบ้านฉางก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เกิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง
โครงการต้นแบบ บ้านฉาง (EEC Tech Park) มูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างในเฟสแรกภายในปี 2567 รวมถึงยังมีในพื้นที่เมืองพัทยา ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเสา 5G ไปแล้วกว่า 100 เสา อยู่ระหว่างขยายเพิ่มเติมเพื่อให้พัทยาก้าวสู่สมาร์ทซิตี้เช่นกัน และในปี 2565 จะนำร่องต้นแบบ EEC Common Data Lake นำข้อมูลดาต้าแพลตฟอร์มภาครัฐและเอกชน ใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดธุรกิจ คาดว่าในภาพรวมทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้ประโยชน์เพิ่ม 5 เท่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อเสาสาย 2 แสนล้านบาท
ความก้าวหน้าต่อไป จะเร่งผลักดันให้โรงงานในอีอีซีเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 เกิดการใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นอย่างแพร่หลาย คาดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่า 30% โดยปัจจุบันได้เริ่มทำแล้วกว่า 40 โรงงาน และจะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน (ขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% เอสเอ็มอี 50%) ภายในปีนี้ และภายในปี 2568 โรงงานกว่า 6,000 แห่งในอีอีซีจะก้าวสู่โรงงานอัจริยะ รวมทั้งการเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 4 ปีจะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (สกิลใหม่และอัปสกิล และรีสกิล) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, เน็ตเวิร์กให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน
พัฒนาด้านสังคมเต็มกำลัง
อีอีซีได้เดินหน้าพัฒนาด้านสังคม ผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยได้ดำเนินการใน 5 โครงการนำร่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานโลก คู่กับการเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำ โดยศึกษาและออกแบบใหม่เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ดีให้มาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 2.การพัฒนา Wellness Center ผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีอีซีเป็นศูนย์กลางพื้นที่ดูแลสุขภาพด้วยเทคนิคการแพทย์สมัยใหม่
3.การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาด้านการบริหารจัดการ สร้างเครือข่าย เพื่อส่งเสริมสินค้าโอทอปและบริการในพื้นที่ให้ตอบสนองต่อความต้องการตลาดมากขึ้น 4.การร่วมกับ 7 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ สนับสนุนบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อประชาชน ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และฟื้นเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 โดยได้ให้บริการทางการเงินในพื้นที่อีอีซีไปแล้ว 37,637 ราย เป็นวงเงินรวม 17,245 ล้านบาท และให้บริการค้ำประกัน 66,019 ราย วงเงินรวม 84,367 ล้านบาท
และ 5.แผนพัฒนาการเกษตร เป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ แก้ไขผลผลิตล้นตลาด รวมถึงจัดเตรียมห้องเย็น ยืดอายุผลผลิต คงความสดและรสชาติผลไม้ ให้เกษตรกรเกิดรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ความก้าวหน้าต่อไป อีอีซีจะยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองที่ทันสมัย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้จำนวนรายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชน (จีดีพี) เพิ่มขึ้นมากว่า 20% วิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ