‘กองทุนน้ำมัน’ ดิ้นหาเงินอุ้มราคาพลังงาน เล็งขอรัฐบาลล้วงเงินงบประมาณประคอง หลังเดินเรื่องกู้ 3 หมื่นล้านบาทยังไม่คืบ รับมีสภาพคล่องเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท ดูแลราคาน้ำมันได้อีกแค่เดือนกว่า
27 พ.ค.2565 – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ในการพยุงราคาน้ำมันได้อีกประมาณเดือนกว่า หลังจากนั้นจะต้องหาสภาพคล่องเพิ่มเติมให้ได้ ซึ่งมี 2 ทางเลือกที่ดำเนินการได้ คือ 1. การกู้เงิน ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินได้รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท และ 2. การขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายว่ารัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาดำเนินการให้
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบอยู่ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินที่ไหลเข้า-ออกกองทุนในแต่ละวัน เมื่อหักลบแล้วจะติดลบอยู่ประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อวัน โดยเมื่อพิจารณาจากสภาพคล่องที่มีอยู่ กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่มีความผันผวนอย่างมาก จึงต้องเร่งหาสภาพคล่องมาเพิ่มเติม ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศนั้น ยอมรับว่ายังมีความผันผวนอยู่มาก ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ที่หากมีการขยับราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยก็จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกทันที เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 107-110 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปอยู่ที่ 138-145 ดอลล่าร์ต่อบาเรล
“ถึงแม้ว่าการกู้เงินตามมติ ครม. จะไม่ทันภายในเดือน พ.ค. 2565 และสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่อาจจะหมดไป ก็เชื่อว่ายังไม่ส่งผลกระทบกับกองทุน เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีช่องทาง คือ การขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะเอาเงินจากตรงไหนมาอุดหนุนให้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะพิจารณา ทำให้มั่นใจได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังสามารถดูแลราคาน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการสะดุด” นายวิศักดิ์ กล่าว
นายวิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเงินกู้เพื่อรองรับสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร ยอมรับว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถกู้เงินโดยตรงได้ เพราะไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันกับธนาคาร โดยยอมรับว่าธนาคารก็ต้องพิจารณาถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย เพราะมีผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และสงคราม ล่าสุดมีเรื่องฝีดาษลิงเข้ามาเพิ่มเติม ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ครม. ที่ได้มีมติให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 และในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพียงครึ่งหนึ่ง โดยกำหนดอัตราเพดานไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลยังอุดหนุนราคาไม่ถึงครึ่งของราคาเพดาน ก็ถือว่าไม่ผิดมติ ครม. เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่ามีเวลาดำเนินการในส่วนนี้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่จะปรับราคาน้ำมันดีเซลไปที่ 35 บาทต่อลิตร
“ตอนนี้มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ประมาณ 7 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ราว 32 บาทต่อลิตร บวกกับที่อุดหนุนอยู่ 7 บาทต่อลิตร ทำให้จริง ๆ แล้วราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 39 บาทต่อลิตร ส่วนว่าหลังจากนี้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงคงตอบได้ยาก เพราะสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงรายวัน รวดเร็วมาก การพิจารณาเรื่องราคาน้ำมันจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ช่วงนี้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเพราะต่างประเทศมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น หลังจากมีการกลับมาเปิดประเทศทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวกันทั่วโลก ส่วนตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ที่ตามมติ ครม. ระบุว่าจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็มองว่าหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ราคาขายปลีกในประเทศก็อาจจะไม่ถึง 35 บาทต่อลิตรก็ได้” นายวิศักดิ์ กล่าว