เอกชนห่วงไทยเจอ ‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’! พบสัญญาณธปท.จ่อขึ้นดอกเบี้ย

เอกชนมองไทยเตรียมรับมือวิกฤติซ้อนวิกฤติ เปิด 7 จุดท้ายทาย แนะจับตาสงครามสหรัฐฯ-รัสเซีย ทำนายน้ำมันแพงต่อเนื่องอีก 2 ปี วิกฤติอาหารโลกทุบซ้ำ บี้รัฐเร่งจัดการฐานะการคลัง ชงโละมาตรการคนละครึ่ง-ไทยเที่ยวไทย มองไม่จำเป็นอีกแล้ว “แบงก์ชาติ” ชี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งซิกขยับดอกเบี้ย

26 พ.ค. 2565 -นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจ-โอกาส-ความท้าทายใหม่” ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะออกจากวิกฤตและเข้าสู่วิกฤตใหม่ ซึ่งหากตอบ 2 คำถามนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยจะแย่ คือ 1.ไทยจะรับมือกับความผันผวนในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอย่างไร และ 2.ไทยจะเตรียมการสำหรับ Next Chapter ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

“ไทยกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือ ไทยกำลังออกจากวิกฤตโควิด-19 แล้วเข้าสู่วิกฤตและความท้าทายใหม่ทันทีแบบไม่มีช่วงให้พัก เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของความผันผวน ก่อนจะเข้าสู่ next chapter ของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย กำลังเข้าสู่ความท้าทายใหม่ 7 ด้าน คือ 1.วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐ-รัสเซีย ที่ความขัดแย้งจะไม่จบง่าย ๆ 2.วิกฤตราคาพลังงาน ที่คาดว่าราคาพลังงาน จะปรับขึ้นสูง และค้างในระดับดังกล่าวอีก 2 ปี ไม่ได้ปรับลดลงมาสู่ระดับปกติ ทำให้การออกนโยบายสนับสนุนราคาพลังงานของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป 3.วิกฤตอาหารโลก จากรัสเซียลดการส่งออกปุ๋ย ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องลดการส่งออกอาหารมากขึ้น 4.ความปั่นป่วนตลาดการเงินโลก โดยเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงและรวดเร็ว

5.ความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ 6.วิกฤตตลาด emerging markets โดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้เงินมาใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นจำนวนมาก หากมีการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ประเทศเหล่านี้จะเป็นอย่างไร และ 7.ปัญหาเศรษฐกิจจีน ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

“ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงพิเศษต้องดูแลบริหารจัดการตัวเองให้ผ่านไปให้ได้ เป็นช่วงท้าทายที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะไม่ง่าย ต้องเตรียมการรับมือ มรสุมลูกใหม่กำลังก่อตัวขึ้น ประเทศก็ต้องเตรียมการ ซึ่งปีนี้เครื่องยนต์ส่งออกจะเหลือครึ่งเดียว เพราะเศรษฐกิจโลกจะแผ่วลง อย่าไปคาดหวังมาก ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ อีอีซี สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และต้องเดินหน้าเรื่องเปิดเมือง ฟื้นการท่องเที่ยวให้ได้ท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อทำให้ไทยมีแรงส่งเข้าสู่มรสมลูกนี้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี จะต้องสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจไทย เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป จึงจำเป็นต้องจัดการเรื่องฐานะการคลัง ซึ่งเห็นว่า มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง ไทยเที่ยวไทย เป็นมาตรการที่ไม่จำเป็นอีกแล้ว ต้องคิดใหม่ ให้ภาคการคลังสู่สมดุลได้กว่านี้ ทำอย่างไรให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศยังไปได้ และต้องดูแลสถาบันการเงินให้เข้มแข้ง ประชาชน และภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สภาวะแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงิน” ในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาจากการฟื้นตัวบนความไม่แน่นอน ยังขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3% ใกล้เคียงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดไว้ที่ 3.2%

“เศรษฐกิจไทยยังอยู่บนพื้นฐานการขยายตัวบนความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย การปรับนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เข้มแข็ง มีการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลสมดุลเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ย คงต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ของไทยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% แนวโน้มต่อไปคงต้องปรับขึ้นโดยขอดูจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา” นายปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากวิกฤตโควิด-19 หลาย ๆ ประเทศต้องเจอวิกฤตรุมเร้าเหมือน ๆ กันที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นเดียวกับไทย เช่น การดูแลฐานะการคลังและการเงินของไทย แม้ว่าการคลังยังมีเสถียรภาพ แต่ก็มีเครื่องมือในการกระตุ้นหลือน้อยลง เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58% ต่อจีดีพี และต้องมีการจัดงบประมาณขาดดุลทุกปี โดยคาดว่าหนี้สาธารณะจะขึ้นไปอยู่ที่ 67% ต่อจีดีพีในปี 2569 ดังนั้น เมื่อพ้นวิกฤตต้องจัดการให้กลับมาอยู่ 60% ต่อจีดีพี ให้มีกระสุนด้านการคลัง เพื่อให้มีความสามารถในการใช้นโยบายในอนาคตได้ โจทย์ของการหารายได้ และการบริหารงบประมาณที่มีจำกัด จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องของความเหลื่อมล้ำและความเห็นต่างในสังคมที่สูงขึ้น จากโควิด-19 ที่กระทบรายได้โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก แม้ธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายการลงทุน แต่การว่างงานและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบสังคมเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ความเหลื่อมล่ำที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งมากขึ้นหลังโควิด-19 และความขัดแย้งทางความเห็นในสังคมโซเชียล ถ้าไม่แก้ไขก็เป็นความเสี่ยงของประเทศ รวมทั้งคุณภาพคนถดถอย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง เด็กยากจนต้องหลุดจากการศึกษา นักศึกษาจบใหม่หางานทำไม่ได้ ส่งผลดกระทบต่อเสถียรภาพในการทำงานระยะยาว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"