ธรรมาภิบาลในการทําหน้าที่ของนักการเมือง

24 พ.ค. 65 – ธรรมาภิบาลหรือความพร้อมที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้องเป็นปัญหาสําคัญของประเทศเรา ทั้งในภาครัฐและเอกชน และเมื่อคนในประเทศไม่พร้อมที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศก็มีปัญหามาก ธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องแก้ไข

เดือนที่แล้ว มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้รับเกียรติจากสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช) ให้จัดหลักสูตรให้ความรู้ข้าราชการภูมิภาคเรื่องธรรมาภิบาล เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐในภูมิภาคของปปช จัดในสามภาคของประเทศเริ่มที่ภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น เป็นหลักสูตรหนึ่งวัน ผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการภูมิภาคจากหน่วยราชการต่างๆ อบรมทั้งในสถานที่จัดและผ่านระบบZoom เป้าประสงค์คือสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมาภิบาล เข้าใจปัญหาที่ทําให้ธรรมาภิบาลในภาครัฐอ่อนแอ และ แนวทางที่จะทําให้ธรรมภิบาลภาครัฐเข้มแข้งขึ้น เน้นทั้งหลักการสําคัญของธรรมาภิบาลภาครัฐและกรณีศึกษาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

การประเมินผลหลังการอบรมชี้ว่าการอบรมประสพความสําเร็จด้วยดี ผู้เข้าอบรมพอใจกับความรู้ที่ได้ ตระหนักในความสําคัญของธรรมาภิบาลในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และพร้อมที่จะใช้และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้กับเพื่อนร่วมงานเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลของหน่วยงานให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งน่ายินดีมาก ผมในฐานะวิทยากรก็รู้สึกชัดเจนว่าข้าราชการภูมิภาคตระหนักเป็นอย่างดีถึงปัญหาธรรมาภิบาลที่ภาครัฐมีเพราะอยู่ใกล้ชิดกับปัญหา มีใจที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาให้ธรรมาภิบาลภาครัฐดีขึ้น เป็นนิมิตรหมายที่ดีมากยี่งกว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์

แต่ความเป็นจริงคือการเปลี่ยนแปลงให้ธรรมาภิบาลภาครัฐดีขึ้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นําในส่วนกลาง โดยเฉพาะระดับเจ้ากระทรวงคือนักการเมืองต้องเห็นด้วย คือต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการเห็นธรรมาภิบาลภาครัฐดีขึ้น พร้อมที่จะประกาศเป็นนโยบายและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้จริงเพราะมีการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับต้นนํ้าคือนโยบาย มีระดับปลายนํ้าคือข้าราชการภูมิภาคพร้อมตอบรับและสนับสนุน นี่คือสิ่งที่ต้องมี

แต่ที่สําคัญกว่าและมักเป็นปัจจัยชี้ขาดความสําเร็จของการเปลี่ยนแปลงคือผู้นําที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องพร้อมแสดงให้เห็น พร้อมทําตนให้เป็นตัวอย่าง หมายถึงถ้านักการเมืองต้องการผลักดันให้ธรรมาภิบาลภาครัฐดีขี้น ซึ่งเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องทําในบริบทประเทศเรา นักการเมืองก็ต้องทําตนให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือต้องทําหน้าที่ของตนในฐานะเจ้ากระทรวงหรือรัฐบาลอย่างมีธรรมาภิบาล เพราะถ้าไม่ทําก็จะเหมือนพูดอย่างแต่กลับประพฤติหรือทําอีกอย่าง คือทําไม่เหมือนที่พูด ทําให้นโยบายขาดความน่าเชื่อถือ และต่อไปนักการเมืองจะผลักดันอะไรก็ยากเพราะไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครทําตาม นี่คือความสําคัญของการทําตนให้เป็นตัวอย่าง

เรื่องผู้นำต้องทําตนให้เป็นตัวอย่าง มีเกล็ดที่น่าสนใจจากชีวประวัติของมหาตมะคานธี บิดาประชาชาติของอินเดียว่า สมัยที่มหาตมะคานธีเรียนหนังสืออยู่ที่อังกฤษและพักอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ แม่บ้านผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ขอให้มหาตมะคานธีพูดกับลูกชายของเธอให้ลดการบริโภคนํ้าตาลเพราะห่วงสุขภาพของลูกชาย ซึ่งมหาตมะคานธีก็รับปาก แต่ผ่านไปสองอาฑิตย์ ลูกชายยังบริโภคนํ้าตาลอยู่ แม่บ้านจึงถามหาตมะคานธีว่ายังไม่ได้พูดกับลูกชายเธออีกหรือ มหาตมะตอบว่าเพิ่งพูดเมื่อเช้านี้เอง เพราะสองอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาก็ทดสอบตนเองว่าจะลดไม่บริโภคนํ้าตาลได้หรือไม่ ซึ่งเพิ่งทําได้เมื่อวานนี้ นี่คือตัวอย่างของผู้นํา

ดังนั้น คําถามคือถ้านักการเมืองต้องทําหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาลให้เป็นตัวอย่างโดยเฉพาะตอนมีตําแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล นักการเมืองควรต้องทําอย่างไร

ในเรื่องนี้คําตอบที่ดีและเป็นคําตอบที่ผมอยากแชร์คือแนวคิดจากเอกสารของ The Caux Roundtable  for Moral Capitalism (CRT) หรือกลุ่มสนทนาโต๊ะกลมคลุ๊กสว่าด้วยจริยธรรมระบบทุนนิยม ที่เขียนเกี่ยวกับธรรมาภิบาลหรือหลักสําคัญในการทําหน้าที่ของผู้ที่เข้ารับตําแหน่งทางการเมือง ให้แนวคิดเกี่ยวกับสี่งที่นักการเมืองควรคิดหรือถือปฏิบัติในการทําหน้าที่สาธารณะเพื่อให้เกิดรัฐบาลที่ดี ซึ่งน่าสนใจมาก

เอกสาร CRT ชี้ว่าความกินดีอยู่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจคือผลจากการทําหน้าที่ของรัฐและภาคเอกชน ภาคเอกชนใช้ทุนเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งทําให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น แต่การสร้างความมั่งคั่งจะทําได้มากหรือน้อยรวมถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการทําหน้าที่ของนักการเมืองหรือรัฐว่าจะใช้อํานาจที่มีอย่างไร ทําอย่างถูกต้องและมีเหตุมีผลหรือไม่ เพื่อประโยชน์ของใคร ซึ่งจะกระทบกระบวนการสร้างทุน กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ และประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้

ที่เป็นอย่างนี้เพราะนักการเมืองเมื่อมีตําแหน่งเป็นรัฐบาลจะมีอํานาจในการออกกฏระเบียบ ในการบังคับใช้กฏหมาย ในการใช้ทรัพยากรของประเทศ รวมถึงสร้างแรงจูงใจต่างๆให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการสะสมทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลที่ทําหน้าที่ได้ดีก็จะทําให้กระบวนการสะสมทุนเกิดขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจเติบโตและยั่งยืน ตรงข้ามกับนักการเมืองที่ทําหน้าที่ได้ไม่ดี มองประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ก็จะทําให้ประเทศเสียโอกาส ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ และในกรณีเลวร้ายก็อาจทําให้คนในประเทศยากจนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้อํานาจจึงต้องมากับความรับผิดชอบ และการใช้อํานาจของนักการเมืองก็ต้องใช้อย่างรับผิดขอบเช่นกัน คือใช้อย่างมีหลักการ มีเหตุผล เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในเรื่องนี้เอกสารCRT ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักในการทําหน้าที่ของนักการเมืองเมื่อมีอํานาจ เช่น

หนึ่ง นักการเมืองต้องตระหนักว่าอํานาจที่มากับตําแหน่ง เช่นตําแหน่งรัฐมนตรี เป็นอํานาจที่ให้ไว้กับตําแหน่งด้วยความไว้วางใจว่าผู้ที่อยู่ในตําแหน่งจะใช้อํานาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ผู้ที่อยู่ในตําแหน่งคือผู้ที่ดูแลและรักษาอํานาจ ไม่ได้เป็นเจ้าของอํานาจ และอํานาจไม่ใช่สมบัติส่วนตัว ผู้ที่อยู่ในตําแหน่งต้องรับผิดรับชอบต่อการใชัอํานาจ และมีภาระที่ต้องพิสูจน์ตนเองเมื่อความไม่ถูกต้องในการใช้อํานาจเกิดขึ้น

สอง การใช้อํานาจต้องมองประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นการทําหน้าที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้ที่ทําหน้าที่รัฐคือผู้ที่รับใช้ประชาชน ต้องฟังเสียงประชาชน รัฐต้องส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและรักษาความเป็นอิสระของสื่อ

สาม ตําแหน่งทางการเมืองไม่ได้มีไว้เพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ที่เป็นตัวเงินหรือการทําให้ตนมีอภิสิทธ์เหนือผู้อื่นโดยตั้งใจ การทุจริตคอร์รับชั่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางการเงินการเมืองหรือศีลธรรม ล้วนไม่สอดคล้องกับการดูแลรักษาประโยชน์ของส่วนรวม การบังคับใช้กฏหมายอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นที่ตรงกับหลักของการใช้อํานาจรัฐ

สี่ ความยุติธรรมต้องมาก่อนและอยู่เหนือสื่งอื่นใด กฏหมายต้องใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฏหมายต้องไม่ล่าช้าเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ (impartial)

ห้า รัฐต้องทําหน้าที่อย่างโปร่งใสและพร้อมให้ตรวจสอบ มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอที่จะแสดงความคิดเห็น

นี่คือข้อคิดเกี่ยวกับการทําหน้าที่ของนักการเมืองซึ่งน่าสนใจมาก และเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในการทําหน้าที่ของนักการเมืองโดยเฉพาะในบ้านเรา แม้ในโลกของความเป็นจริงการเมืองกับการทําในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อส่วนรวมดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย ช่องว่างนี้จึงทําให้ธรรมาภิบาลภาครัฐเป็นปัญหาสําคัญที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่เฉพาะเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เพื่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ

เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กดดันรางวัลเยอะ ‘แพทองธาร’ ดีใจนึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียลมา 3 เดือน!

"อิ๊งค์" กดดันหนัก! บริหารประเทศ 3 เดือนได้รางวัลเพียบ ดีใจโพลสำรวจ ปชช.ให้เบอร์ 1 “นักการเมืองแห่งปี” นึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียล "หมอวรงค์" เฉ่งยับ!

'อิ๊งค์' ปลื้มโพลยกเป็น 'นักการเมืองแห่งปี' รับปากปีใหม่จะไม่สร้างดรามา

น.ส.แพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดผลสำรวจประชาชน หัวข้อ “นักการเมืองแห่งปี” โดยประชาชน 15.14% เลือกน.ส.แพทองธาร เป็นนักการ

ครม. แจกเค้กลูกหลานนักการเมืองเพื่อไทยล็อตใหญ่ นั่งข้าราชการการเมือง

นายคารม​ พลพร​กลาง​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยแต่งตั้งนายประสพ​ เรียงเงิน  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ซัดคอร์รัปชันเลวร้าย นักการเมืองตัวดี โกงกินแสนล.ติดคุกไม่กี่ปีออกแล้ว

นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง 'ใครจะกล้ามา'