วิจัยกรุงศรีฯคาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี

วิจัยกรุงศรีคาดทางการคงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปีด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอ่อนแอ และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง

24 พ.ค. 2565 – การขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และพยุงความเชื่อมั่นของภาคอุตสากรรมที่อ่อนแอ ในเดือนเมษายนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 86.2 จาก 89.2 เดือนมีนาคม รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 95.9 จาก 99.6 เดือนมีนาคม สาเหตุสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัดถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศได้รับแรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่สูงและปัญหาหนี้ครัวเรือน

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรม ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและประชาชน ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติขยายมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็น 5 บาท/ลิตร (จากเดิมลด 3 บาท/ลิตร สิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคมนี้) มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 20 กรกฎาคม 2565 เพื่อจะช่วยลดระดับราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจากผลการประเมินของวิจัยกรุงศรีพบว่า หากกรณีมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 2 บาท/ลิตร จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อรวมสะสมใน 5 ไตรมาสเพิ่มขึ้น 0.49ppt จากกรณีฐาน และจะกระทบต่อ GDP ในอีก 3 ไตรมาสถัดไปลดลง 0.17ppt จากกรณีฐาน และหากมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 5 บาท จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อรวมสะสมใน 5 ไตรมาสเพิ่มขึ้น 1.23 ppt จากกรณีฐาน และกระทบต่อ GDP ในอีก 3 ไตรมาสถัดไปลดลง 0.43 ppt จากกรณีฐาน

ไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกน้อยกว่าเพื่อนบ้าน อาจหนุนให้กนง.คงดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นช้า ล่าสุดผู้ว่าธปท.ชี้ว่ากนง. ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดซึ่งมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและตลาดเงินผันผวน

วิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์ว่ากนง. จะไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจาก (i) แม้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง โดยมีสัญญาณเล็กน้อยของแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากอุปสงค์ยังคงอ่อนแอท่ามกลางตลาดแรงงานที่ซบเซา (ii) ไทยรองรับความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอกได้ดีกว่าบางประเทศ สะท้อนจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในอันดับที่เข้มแข็งรองจากไต้หวันและเกาหลี ซึ่งช่วยลดความกังวลเงินทุนไหลออก และ (iii) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาด  โดย GDP ไตรมาสแรกของไทยเติบโตเพียง 2.2% YoY ซึ่งอ่อนแอกว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาค นอกจากนี้ จากข้อมูลคาดการณ์ของ IMF พบว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทั้งปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด 1.5% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดแล้วราว 1.6-13.4%  ดังนั้น แม้จะมีแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จึงอาจมีผลต่อการปรับนโยบายของกนง. นอกจากนี้ สำหรับไทยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไม่น่าจะช่วยบรรเทาเงินเฟ้อด้านอุปทาน และอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ขุนคลัง' มั่นใจต่อไปเศรษฐกิจดีขึ้นแน่หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย

'พิชัย'มั่นใจเศรษฐกิจดีขึ้น หลัง กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย หวังทุกฝ่ายร่วมมือฟื้นสภาพคล่อง เชื่อ ธปท.จะพิจารณาเพิ่มกรอบเงินเฟ้อ

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

นายกฯ ฝากบอกแบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ แต่ควรคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ปชช.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ย ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ หรือยัง ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ตนทราบมาก่อนแล้ว

'เศรษฐา' ย้ำลดดอกเบี้ย สลึงเดียวก็ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ แต่แบงก์ชาติไม่ยอมลด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และรวมทั้งปี เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9%