รฟท.เร่งรื้อย้ายสาธารณูปโภคเคลียร์พื้นที่สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

รฟท. เผยความคืบหน้าแก้ปัญหาผู้บุกรุกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งเป้ามอบพื้นที่ให้เอกชน คาดส่งมอบพื้นที่ส่วนผู้บุกรุกได้ 24 ก.ค.นี้ ขณะที่งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดจบใน ก.ค. นี้

20 พ.ค.2565-นายสมยุทธ์ เรือนงาม ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟฯ เดินหน้าหน้าแก้ปัญหาผู้บุกรุกเขตทางรถไฟ ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เผยในส่วนผู้บุกรุกเขตทางรถไฟ ได้แก้ปัญหา 100% แล้ว และเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ผู้ได้รับสัมปทานโครงกรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นี้ ย้ำต้องเร่งรัดดำเนินการให้โครงการสำคัญสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC เดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ รฟท.ได้ร่วมกับกรมชลประทานเข้าดำเนินการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่อาศัยในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อทำให้โครงการที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ต่อประเทศนี้ ในพื้นที่ EEC เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ กรมชลประทาน นำกำลังเข้าดำเนินการรื้อถอนย้ายอาคารและสิ่งปลูกสร้างของประชาชนที่อยู่อาศัย ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบริเวณแนวเส้นทางรถไฟโรงเรียนบ้านเขาชีจรรย์ หมู่ 11 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่เรียบร้อย

นายสมยุทธ์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาผู้บุกรุกในเขตทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนของ รฟท. ได้แก้ปัญหาแล้วเสร็จไปแล้ว 100 % คงเหลืออีก 2 ราย ในพื้นที่ของกรมชลประทาน ที่ รฟท. ขอใช้พื้นที่ในเขตทางโครงการเท่านั้น และยืนยันว่า ได้มีการทำความเข้ากับผู้บุกรุกมาตลอด โดยหลังการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกแล้วเสร็จ รฟท. ก็มีแผนในการดำเนินการ ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ผู้ได้รับสัมปทานโครงกรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นี้

สำหรับความคืบหน้าการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ในช่วงเดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 357 จุด (609 งาน) จากทั้งหมด 400 จุด (668 งาน) โดยมีสาธารณูปโภคที่ดำเนินการ รื้อย้ายหลังส่งมอบระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ จำนวนทั้งหมด 135 งาน ได้ดำเนินการแล้ว 76 งาน คงเหลืองานรื้อย้าย 59 งาน ซึ่งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคงานสุดท้ายจะรื้อย้ายแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 65 ส่วนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 จุด (18 งาน) จากทั้งหมด 68 จุด (67 งาน)

ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ปัญหา ผู้บุกรุก พื้นที่เขตทางรถไฟ และพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน ที่อยู่ในแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำความเข้าใจ เจรจาไปแล้วหลายครั้ง ถึงความจำเป็นต้องเร่งส่งพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการ ปรับสภาพเส้นทาง รองรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตามสัญญาโดยที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจา เพื่อจ่ายค่าทดแทนให้ชาวบ้านทั้ง 2 รายไปแล้ว จากเดิมได้มีการประเมินราคาค่าทดแทน และมีการทำสัญญากันไป ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.2564 รายที่ 1 ได้รับค่าทดแทน 1,920,600 บาท รายที่ 2 ได้รับค่าทดแทน 821,929 บาท แต่ทั้ง 2 รายจะต้องยื่นเอกสารแสดงสิทธิการเช่าที่ดิน กับกรมชลประทานก่อนให้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถแสดงสิทธิ์ได้ รฟท.จึงไม่สามารถจ่ายค่าทดแทนตามข้อตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตามโดยต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนค่าทดแทนตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด โดยระบุให้ผู้เสียหาย ได้รับค่าทดแทนส่วนหนึ่ง โดย การรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งประกาศครอบครองไปยังคู่กรณี แต่ชาวบ้านทั้ง 2 ราย ไม่ยินยอม ในกรณีดังกล่าวการรถไฟฯต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากผู้ร้องขอไม่สามารถแสดงสิทธิในที่อยู่อาศัยได้ ก็จะกลายเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ ไม่สามารถจ่ายค่าทดแทนได้

ทั้งนี้ต่อมา รฟท.ก็ยังได้พิจารณาจัดสรรค่าทดแทนบางส่วนเพื่อช่วยเหลือ และล่าสุด รฟท. ได้ทำหนังสือแจ้งผู้อาศัยให้มารับเงิน ค่าทดแทน ตามกำหนดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา แต่ทั้ง 2 ราย ยังไม่ยินยอม รฟท.จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเจรจาต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จึงจำเป็นต้องเข้าดำเนินรื้อถอนตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการที่รัฐส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาล่าช้า และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนสวนรวม

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา โครงการ มี ระยะทาง 220 กิโลเมตร 9 สถานี มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท เป็นโครงการช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ช่วยพัฒนา ที่ก่อให้เกิดการลงทุน การท่องเที่ยว ก่อประเทศต่อเศรษฐกิจโดยสารของประเทศในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯลุยสนามบินอู่ตะเภา เร่งเคลียร์ปัญหาสร้างรถไฟเชื่อมสนามบิน

นายกฯลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ดูข้อติดขัดสร้างรถไฟเชื่อมสนามบิน แย้ม ก.ค.นี้ เห็นข้อสรุปก่อน เคาะโต๊ะสัญญาต้องจบสิ้นปี 67 ลั่น อย่าให้เกิดปัญหา ห่วง ติดกระดุมเม็ดแรกผิดเกิดเป็นมหากาพย์

‘พี่ศรี’ จี้ กทม.เร่งออกคำสั่งรื้อถอน แอชตันอโศก หลังศาลสูงพิพากษาแล้ว 30 วัน

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯ กทม.และ ผอ.สำนักการโยธา ให้เร่งออกคำบังคับตามมาตรา 41 และ 42 โดยเร็ว นั่นคือ การห้ามใช้อาคาร และออกคำสั่งรื้อถอนอาคารดังกล่าวในที่สุดต่อไป

กองทัพเรือฟ้องแล้ว! รื้อถอน 'รีสอร์ตหรู' เขาแสมสาร

พลเรือเอกปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชน ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารกรณี รีสอร์ตหรู Star Oversea บนยอดเขาในพื้นที่ช่องแสมสาร อ.สัตหีบ.จ.ขลบุรี

รฟท. เคลียร์ปมส่งมอบพื้นที่สร้างรถไฟสามสนามบิน จ่อแก้สัญญาร่วมลงทุน

บอร์ด รฟท.รับทราบยุติข้อพิพาทปมลำรางบริเวณพื้นที่สร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบินหลังอัยการตีความไม่อยู่ในเงื่อนไขส่งมอบให้เอกชน เล็งชง กพอ.-ครม. แก้สัญญาร่วมลงทุน ก.ค.นี้ รฟท. คาดออก NTP ภายในวันที่ 4 ม.ค.66