ธปท.ชี้พิษโควิดทำเด็กจบใหม่ 'เตะฝุ่น' เฉียดแสน

“แบงก์ชาติ” ชี้พิษโควิด-19 กระทบตลาดแรงงานหนัก เด็กจบใหม่ช้ำสุดพบว่างงานเฉียดแสนคน สาขาบริการและการค้าอ่วมสุด เหตุตำแหน่งว่างไม่สอดคล้องวุฒิการศึกษา-ธุรกิจหันใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทนแรงงาน กระทุ้งหันประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

18 พ.ค. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกบทความ Youth unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุคโควิด-19 โดยระบุว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และยังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขการว่างงานของเด็กจบใหม่ หรือการว่างงานของกลุ่มเยาวชน (Youth unemployment) ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติเกือบแสนคน สะท้อนถึงปัญหาของตลาดแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะเป็นแรงงานมีฝีมือในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ การว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ของไทยอยู่ในระดับสูง เนื่องจากตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ/วุฒิการศึกษา/ค่านิยมของเด็กจบใหม่ โดยความต้องการของตลาดแรงงานส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐาน อาทิ แรงงานทั่วไป แม่บ้าน และเน้นวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี สะท้อนถึงปัญหา Qualification Mismatch ในตลาดแรงงาน ที่แรงงานมีระดับการศึกษาไม่ตรงกับระดับทักษะที่จำเป็นต่องานนั้น ๆ ขณะที่บางบริษัทขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ซึ่งค่อนข้างหายากในภูมิภาค เป็นสาขาที่คนจบมาน้อย สะท้อนถึงปัญหา Skill Mismatch ทั้งในปัจจุบันและอีกอย่างน้อยใน 2-3 ปีข้างหน้า
ดังนั้น เด็กจบใหม่บางส่วนจึงนิยมออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการ พบว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 4.6 หมื่นคนในปี 2562 เป็น 5.6 หมื่นคนในปี 2564

นอกจากนี้ ธุรกิจมีแนวโน้มปรับกระบวนการทำงาน โดยลดการพึ่งพาการใช้คนและลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น บางบริษัทปรับลดจำนวนพนักงาน โดยบางส่วนให้พนักงานทำงานหลายหน้าที่มากขึ้น และนำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานในกระบวนการทำงานต่าง ๆ มากขึ้น อีกทั้งตลาดแรงงานมีการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้เด็กจบใหม่มีโอกาสได้รับการเข้าทำงานยากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ทำงาน

“การว่างงานของเด็กจบใหม่นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะการเกิดช่องว่างของทักษะการทำงาน (skilled gap) หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนาน 2-3 ปี จะยิ่งส่งผลให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ประกอบกับยังมีกลุ่มเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราว 4-5 แสนคนในแต่ละปี ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตยิ่งน่ากังวลมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ที่พบว่าว่างงานเพิ่มมาก ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 มีจำนวนถึง 2.9 แสนคน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา แม้ปัจจุบันการว่างงานโดยรวมจะทุเลาลงบ้าง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยก่อนการระบาดของโควิด-19 และหากคิดเป็นอัตรากรรว่างงานแล้ว พบว่า กลุ่มเยาวชน 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงถึง 7.2% โดยมากกว่าอัตราการว่างงานของแรงงานทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1.6% และหากมองในมิติสาขาที่ยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูงที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ได้แก่ ภาคบริการและการค้า โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เด็กจบใหม่ไทยเลือกศึกษา จึงอาจซ้ำเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่มากขึ้น

“5แสนคน คือ จำนวนเด็กจบใหม่ในทุก ๆ ปี และยังมีแนวโน้มจบจากสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้นการเสริมสร้างทักษะให้เด็กจบใหม่ว่างงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่การวางแผนแรงงานและการสร้างงานเป็นสิ่งจำเป็น”

สำหรับปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ได้เป็นปัญหาที่พบแค่ในไทย แต่หลายประเทศทั่วโลกได้เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน และหลายประเทศเกิดขึ้นก่อนไทย อาทิ สิงคโปร์ เยอรมัน และเกาหลีใต้ โดยประเทศเหล่านี้ได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือและจัดการกับปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ ส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทย มองไปข้างหน้า ประสบการณ์จากต่างประเทศที่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวก่อนไทย สะท้อนว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่จะยังคงเป็นประเด็นของตลาดแรงงานไทยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาครัฐได้เตรียมรับมือโดยมีมาตรการระยะยาว อย่างการผลักดันการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และขยายผลโครงการ E-Workforce Ecosystem อีกทั้งไทยยังสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศเหล่านี้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยเพิ่มเติมจากมาตรการที่ดำเนินการอยู่ เพื่อช่วยเสริมสร้างให้แรงงานไทยพร้อม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

เพิ่มเพื่อน