แบงก์พาณิชย์โกยกำไรไตรมาสแรกเฉียด5หมื่นล.

“ธปท.” โชว์กำไรแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 1/2565 โกยเต็มสูบ 4.94 หมื่นล้านบาท อานิสงส์สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.9% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคตุ๊บ หลังความเชื่อมั่นทรุดจากโอมิครอนพ่นพิษ พร้อมแจงปัญหาหนี้ครัวเรือนเหมือนโรคเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษา ขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมก่อนออกมาตรการช่วยเหลือ

18 พ.ค. 2565 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2565ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2565จำนวน 4.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 11.8%โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.87%จากไตรมาสก่อนที่ 0.67%ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.45%

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2565 ขยายตัวที่ 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.5%โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่8.8%เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน โดยขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัวจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.3%สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับลดลงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 3.4% ตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ด้านสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว อยู่ที่ระดับ 0.1% แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ระดับ 2.3% สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.6% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2565 ในภาพรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.31 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.93 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.09% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.39%

นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.01ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8%เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่9.09 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 165.6%และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192.5%

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ยืนยันว่า ธปท. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด แต่เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลา และต้องดูจังหวะเวลาในการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ต้องทำอย่างรอบคอบและต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

“ปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่ไม่มียาวิเศษไหนออกมาแล้วรักษาได้หายเลย ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องใช้เวลา และทำอย่างรอบคอบ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย เมื่อสิ้นปี 2564 อยู่ที่ราว 90% ของจีดีพี โดย 2 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนปรับสูงขึ้นมาก มาจากมูลค่าจีดีพีที่ลดลงแบบช็อก โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 2 ใน 3 ที่เพิ่มขึ้น มาจากมูลค่าจีดีพีที่ลดลง ขณะที่อีก 1 ใน 3 มาจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และที่ผ่านมา ธปท. ได้เน้นมาตรการเพื่อช่วยให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนมาตรการที่เน้นแก้หนี้โดยไม่ช่วยให้มีรายได้ จะยิ่งผลักให้ประชาชนออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น ซึ่งการแก้หนี้ครัวเรือนที่จะสำเร็จได้ต้องควบคู่ไปกับการมีรายได้กลับมา ถ้าสถานการณ์นี้เป็นแค่ชั่วคราว เมื่อรายได้กลับมา มูลค่าจีดีพีก็จะกลับมาด้วย ก็น่าจะช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยดีขึ้น” นางสาวสุวรรณีกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

109 นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้าน รัฐบาลครอบงำแบงก์ชาติ

109 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเ

อึ้ง! 'พิชัย' ตอบกระทู้ปัญหาTemu วกตำหนิ 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย

'นันทนา' จี้ถาม 'รมว.พณ.' จัดการแอปTemu 'พิชัย' อ้างสินค้าจีนแทรกแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุเกิดจากโควิด งงวกตำหนิ 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย

อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ค้านเปิดกาสิโน ชี้เป็นนโยบายฉาบฉวย ผลข้างเคียงสังคมเยอะ

นโยบายกาสิโนอาจจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจให้มีรายได้ มีคนเข้ามาเล่น แต่ผมว่า เป็นนโยบายที่ฉาบฉวย คือไม่ได้เป็นนโยบายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนในภาพใหญ่