รู้ทันโจร ก่อนตกเป็นเหยื่อ 'ธปท.' แนะเช็กให้รอบคอบก่อนกู้ออนไลน์

16 พ.ค. 2565 – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ข้อความแจ้งเตือน จะกู้ออนไลน์ ต้องรู้ทันโจร ถ้ายื่นกู้ออนไลน์แล้วถูกบอกให้โอนเงินเข้าไปให้ก่อนเป็นเงินประกันหรือค่าอะไรก็ตาม เลิกแชทเลิกคุยได้เลย เพราะมั่นใจได้ว่าเป็นมิจฉาชีพครับ

ทั้งนี้จากข้อมูลของ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง) ระบุว่า การกู้เงินในยุคปัจจุบันทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านมือถือโดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไปอย่างเรื่องราวข้างต้น ยิ่งหากได้รับ “SMS” หรือมีคน “โทรศัพท์” หรือ “แอดไลน์” (add Line) มาแล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้หรือให้เงินช่วยเหลือ อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ควรเช็คให้ชัวร์ก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง

1.แยกแยะผู้ให้เงินกู้

ลองมาดูว่าผู้ให้บริการ 3 แห่งด้านล่างนี้ ใครคือผู้ให้กู้ในระบบ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ

​แอปพลิเคชัน A (ผู้ให้กู้ในระบบ)
ให้เงินกู้เต็มจำนวน
อัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด

​แอปพลิเคชัน B (ผู้ให้กู้นอกระบบ)
ได้เงินไม่เต็มจำนวน แต่ต้องจ่ายคืนเต็มจำนวน
ดอกเบี้ย/ค่าปรับสูง
ระยะเวลาชำระคืนสั้น
โทรทวงหนี้ ข่มขู่และคุกคาม

​แอปพลิเคชัน C (แอปเงินกู้ปลอม)
​​ให้โอนเงินไปเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าค้ำประกัน ค่าดำเนินการ ค่าลัดคิว โดยบอกว่าถ้าไม่จ่าย จะไม่โอนเงินกู้ให้
หลอกให้โอนเงินเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้จริง

จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ว่า…

ผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต (แอป A) จะให้เงินกู้เราเต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด
ผู้ให้กู้นอกระบบ (แอป B) มักให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน แต่เมื่อคืนเงินกู้ต้องจ่ายเต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ยหรือค่าปรับที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ หรือไปทวงกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในโทรศัพท์ของผู้กู้ ทำให้อับอาย เพราะผู้ให้กู้นอกระบบบางรายจะให้ผู้กู้ดาวน์โหลดแอปซึ่งให้คลิกอนุญาตเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ

แอปเงินกู้ปลอม ที่ไม่ได้ให้เงินกู้ (แอป C) และมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับเรื่องราวของมิว โดยจะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทรหาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น หากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก

​2. ไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งคลิก

หากลองแยกแยะแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ ดังนี้

1) ตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

2) ติดต่อสอบถามตามที่อยู่ / เบอร์โทรศัพท์ที่ได้จากข้อ 1) เพราะบางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาต เราจึงควรสอบถามหรือหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปของผู้ให้บริการจริงหรือไม่

​”เช็กแอปเงินกู้”

3) เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัย เชื่อถือได้
และไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูก jail break ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันภัยจากมัลแวร์

4) อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้
ไม่รีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเราโดยควรกู้เท่าที่จำเป็น และรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนของเราต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนเพื่อไม่เกินกว่าที่เราจ่ายคืนได้

การปราบปรามและควบคุมดูแลเงินกู้นอกระบบและมิจฉาชีพเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปิดช่องโหว่เพื่อป้องกันภัยการเงิน ขณะเดียวกันการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการติดตามข่าวสารการเตือนภัยสม่ำเสมอเพื่อให้รู้เท่าทัน เช่น เพจ PCT Police ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำคัญต้องไตร่ตรองด้วยเหตุและผล หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องก่อน ก็จะช่วยให้เราใช้บริการออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

หากโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือหากต้องการขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อ ศปอส.ตร. (ตำรวจ PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รมว.คลัง' เล็งคุย ธปท. ลดแบล็กลิสต์ พร้อมสั่งออมสินหาเงินแสนล้าน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังประชุมครม.เศรษฐกิจ ว่า กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร

ห่วง ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’! คลังส่งคนคุมฝ่ายบริหาร จี้ ‘พิชัย’ นึกถึงประโยชน์ชาติ

อดีตรองอธิการบดี มธ.บอกห็นข่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะส่งคุณ กิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วรู้สึกเป็นห่วงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและทีมบริหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง

'กุนซือนายกฯ' เขย่า 'แบงก์ชาติ' หัดร่วมมือรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

'พิชัย' ลั่นเตือนแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกย่ำแย่ ชี้นโยบายการเงินไม่สนับสนุน ขณะที่งบประมาณยังใช้ไม่ได้ จี้ 'แบงก์ชาติ' หนุนแก้เศรษฐกิจเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น

ประชาชนสะท้อนปัญหาแก๊งดูดเงิน หวัง ธนาคาร-ธปท. รับผิดชอบเพิ่มขึ้น

นายนพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และอาจารย์ประจำหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยความร่วมมือของสองสำนักโพลระหว่าง สยามเทคโนโพล และ ซูเปอร์โพล