พิษน้ำมันแพงทุบธุรกิจขนส่งอ่วม 'คมนาคม' จ่อเร่งออกมาตรการชุดใหญ่ช่วยพยุง

หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่มีการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ราง น้ำ และอากาศ แบกรับภาระการขาดทุนไม่ไหว ทำให้ต้องออกมาขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงคมนาคม เข้ามาพิจารณาช่วยเหลือ พร้อมขอปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่ปรับสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อให้กิจการสามารถเดินหน้าต่อไป มิฉะนั้นจะต้องเลิกกิจการทำให้เจ๊งทั้งระบบ

โดยเฉพาะกลุ่มรถขนส่งสาธารณะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาร่วม 2 ปี เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจ การเดินทาง ทำท่าจะฟื้นตัวก็มาโดนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงลิ่วซ้ำเข้าอีก ซึ่ง นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร เจ้าของอู่รถเชิดชัยและบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังต้องเจอกับน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเดินรถได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งบริษัทเชิดชัยทัวร์ที่มีรถอยู่กว่า 200 คัน วิ่งทั้งสายภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ตอนนี้เหลือรถวิ่งอยู่แค่ 20-30% เท่านั้น อีกประมาณ 70% ต้องหยุดวิ่ง จอดรถทิ้งไว้ที่อู่มานานกว่า 2 ปีแล้วเพราะขาดทุน เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารและราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้วิ่งรถไม่คุ้มกับค่าโดยสาร ขณะนี้ได้ประกาศจะขายกิจการเดินรถโดยสารของบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 65 ปี เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 

“โดยเฉพาะรถที่วิ่งสายยาว กรุงเทพฯ ไปจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ตอนนี้หยุดวิ่งเกือบ 100% เหลือเพียงสายสั้น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และจังหวัดทางภาคตะวันออก เนื่องจากว่าหากนำรถออกวิ่งทุกคันต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4 ล้านบาท อีกทั้งค่าแรงคนงาน ค้าจ้างพนักงาน ค่าจิปาถะที่ต้องจ่ายอีกจำนวนมาก” นางสุจินดา กล่าว

นางสุจินดา กล่าวว่า ในส่วนสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยราคาน้ำมันที่ขึ้น 1 บาทต่อ 1 ลิตร จะขอปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1 สตางค์ เนื่องจากไม่ได้ปรับอัตราค่าโดยสารมานาน และราคาค่าโดยสารไม่สอดคล้องราคาน้ำมันดีเซล เพราะราคาค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอิงจากราคาน้ำมัน 27.79 บาทต่อลิตรตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้อยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ทำให้ต่างกันประมาณ 5 บาท ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารควรปรับเพิ่มขึ้นอีก 5 สตางค์ และอนาคตดีเซลจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล 

เช่นเดียวกับ นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ระบุว่า อัตราค่าโดยสารที่กรมฯ ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันประกาศตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.62 คือ 53 สตางค์ต่อกิโลเมตรต่อคน ซึ่งราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ลิตรละ 27.79 บาท ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31.94 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 40 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง แบกรับภาระต้นทุนที่สูงเกินจริงมาโดยตลอด ดังนั้นได้ยื่นหนังสือให้กรมฯ พิจารณาทบทวน หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นถึง 1.12 บาทต่อลิตร จะมีการปรับค่าโดยสารขึ้น 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร

ด้านเรือโดยสาร ซึ่งถือว่าเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีความสำคัญสำหรับการเดินทางอีกระบบหนึ่ง โดยเฉพาะเรือโดยสารที่ให้บริการที่คลองแสนแสบ ซึ่ง นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) ผู้ให้บริการเดินเรือคลองแสนแสบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับขึ้นลงตามตลาดโลก ปัจจุบันมีเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอีก แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวแต่ก็ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักถึง 55%

ดังนั้นจึงได้ทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่า (จท.) ขอปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอย่างน้อยระยะละ 1 บาท จากปัจจุบันบริษัทเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ราคา 9-19 บาทตามระยะ ขอปรับขึ้นเป็น 10-20 บาทตามระยะ และหากราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นอีก บริษัทจะปรับขึ้นอีก 1 บาท เป็น 11-21 บาทตามระยะ ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารจะได้ปรับขึ้นกี่บาทและเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่วันที่เท่าใดขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตามภาครัฐต้องตัดสินใจเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และหามาตรการดูแลประชาชน แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่มีแนวทางดำเนินการใดๆ 

     ด้านสายการบิน แม้ยังไม่มีการยื่นหนังสือเรียกร้องถึงผลกระทบ แต่ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการหารือกับสมาคมสายการบินประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสายการบินหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge), ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ฯลฯ และกระทรวงคมนาคมและสายการบินก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด

ซึ่ง นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) ขอหารือในการพิจารณาให้สายการบินกลับมาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) โดยคิดรวมกับค่าบัตรโดยสาร สำหรับเส้นทางบินในประเทศเหมือนกับที่เคยใช้มาในอดีต เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างมากจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งเนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สายการบินต่างๆ มีต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น และยังทำให้สายการบินสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน

ในขณะที่ ภาครัฐได้มีการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่ง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) กล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเยียวยาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนดังนี้ การขนส่งทางบก โดยกรมการขนส่งบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะเสนอขอรับการอุดหนุนค่าน้ำมันดีเซลให้ผู้ประกอบการขนส่ง 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวม 3,607 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการขนส่งสินค้า 2,592 ล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1,015 ล้านบาท นอกจากนี้จะเสนอมาตรการทางภาษี โดยจะเสนอขอปรับลดภาษีประจำปี 90% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถสาธารณะ 170,000 คัน

การขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่า ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารเรือประจำทาง ทั้งในส่วนของเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก แต่จะขอให้กระทรวงพลังงานอุดหนุนราคาน้ำมันลิตรละ 2 บาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน พร้อมเสนอขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงเดือน ธ.ค.2565 การขนส่งทางราง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเยียวยาผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซลที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่งไว้ที่ 29.76-30.00 บาท/ลิตร ซึ่งในส่วนเกินนั้น รฟท.จะรับภาระไว้ การขนส่งทางอากาศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เสนอขยายระยะเวลาการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น หน่วยละ 0.20 บาทอีก 6 เดือน จากเดิมรัฐบาลสนับสนุนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565 เป็นสิ้นปี 2565

“กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาเรื่องผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในทุกมิติที่สามารถช่วยเหลือได้ โดยให้ บขส., ขสมก. และ รฟท.ตรึงค่าโดยสารเพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และให้ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารทุกชนิด ทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไปจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ จึงจะกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง” นายสรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมคลอดแผนออกมานั้น คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์ ยอมรับภาพรวมค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค ตั้งเป้าติด TOP 20

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค เผยสถิติ 8 เดือน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81.05 ล้านคน คมนาคมตั้งเป้าผลักดันติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 72 รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนในปี 77