15 พ.ค.2565 – รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า เปิดประเทศเศรษฐกิจไทยกระเตื้องไตรมาสสาม คาดจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-4% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว และ การใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นจากอุปสงค์ที่ชะลอช่วงก่อนหน้านี้ (Pent-up Demand)
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า คาดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเร่งตัวขึ้น พร้อมกับ การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน แต่ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตสูง และอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย คาดจะพุ่งสูงสุดในไตรมาสสามหลังจากนั้นราคากดดันราคาพลังงานน่าจะคลี่คลายลงจากสงครามยูเครนที่น่าจะยุติลงได้ในไตรมาสสี่ เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสสาม บวกกับ การไหลกลับของเงินทุนระยะสั้นสู่ตลาดการเงินในภูมิภาคและไทย น่าจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้บางส่วน คาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
“แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ หากไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครนได้เลยในช่วงที่เหลือของปี พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากพิษของสงคราม มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หรือการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมดเท่านั้น และ มีแนวโน้มสงครามยูเครนน่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น สินค้าเกษตร ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง เป็นต้น” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้นระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หนี้สินต่อรายได้ในระดับสูง จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้.