พาณิชย์ชงเพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพด 3 เดือน แก้ปัญหาอาหารสัตว์ขาดแคลน

“จุรินทร์”เป็นประธานการประชุม นบขพ. และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีมติผ่อนปรนมาตรการ 3 ต่อ 1 เพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดเป็น 6 แสนตัน ลดภาษีเหลือ 0% ชั่วคราว 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ พร้อมทำเรื่องเสนอ ครม. อนุมัติทันที

2 พ.ค. 2565 – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมได้มีมติในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) เป็นการชั่วคราวก่อน คือ ระหว่างเดือนพ.ค.-31 ก.ค.2565 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมาตรการที่กำหนดไว้เดิมในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดในประเทศ

ทั้งนี้ ยังได้อนุมัติเพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) จากเดิมให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าไม่เกิน 54,700 ตัน เป็นให้ อคส. และผู้นำเข้าทั่วไปนำเข้าได้ ปริมาณ 600,000 ตัน ภายในเดือนพ.ค.-31 ก.ค.2565 โดยลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ในช่วง 3 เดือนนี้ และกระทรวงพาณิชย์จะช่วยจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ให้เพียงพอในประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ด้วย

สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง 3 ช่องทาง ทั้งจากการผ่อนปรนมาตรการ 3 ต่อ 1 การนำเข้าภายใต้ WTO และการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดปริมาณไว้รวมกันจะต้องไม่เกิน 1,200,000 ตัน ซึ่งรวมข้าวบาร์เลย์ด้วย และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมด โดยสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการต่อไปได้เพื่อความเหมาะสม

นายจุรินทร์กล่าวว่า มติแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าว จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่า เร็วสุดน่าจะเป็นวันที่ 3 พ.ค.2565 เพราะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลน เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์ป้อนให้กับผู้เลี้ยงสุกร ไก่ ไข่ไก่ และไม่ให้กระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ปลายทางถึงผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น บางส่วนสูงกว่าในประเทศ จึงเป็นที่มาของการปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อให้ต้นทุนนำเข้าไม่สูงเกินไป และเมื่อผู้ผลิตนำเข้ามาแล้ว มีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งกรมการค้าภายในจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์และพิจารณาการปรับขึ้นราคาตามจริง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ว่าไม่ควรเกินเท่าไร แต่อาจจะขอความร่วมมือ เช่น เดิมกำไร 10% เหลือ 5% ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้รับภาระต้นทุนมากเกินไป แล้วไม่ไปขึ้นราคาจนกระทบผู้บริโภค

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ฝ่าย ได้แก่ 1.ผู้แทนส่วนราชการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง 2.ผู้แทนสภาเกษตรกรที่เกี่ยวกับข้าวโพดและสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง 3.สมาคมการค้าพืชไร่ 4.สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ หมู และไก่เนื้อ 5.สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

พาณิชย์การันตี! เตรียมร้านค้ารองรับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไว้พร้อมแล้ว

'ภูมิธรรม' เผยพาณิชย์เตรียมร้านค้ารองรับ 'ดิจิทัลวอลเลต' พร้อมแล้ว ประชุมวันนี้ทบทวนรายละเอียดทั้งหมด ก่อนนายกฯ แถลง 24 ก.ค.

DITP แนะเทรนด์แฟชั่นสิงคโปร์ ปี 67 ก่อนวางแผนผลิตสินค้าส่งออกไปขาย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเทรนด์แฟชั่นสิงคโปร์ ปี 67 ผู้บริโภคสนใจสินค้าทำจากวัสดุเหลือใช้ แนวสตรีท สินค้าไม่ระบุเพศ ผ้าโปร่งสีขาว กางเกงยีนส์เอาต่ำ-สูง ผ้าลายดอก กระเป๋าทำจากวัสดุรีไซเคิล แนะผู้ส่งออกไทยศึกษาและวางแผนผลิตสินค้าไปขาย