‘กอบศักดิ์’ ชี้หักปากกาเซียน! เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ -1.4% ในไตรมาสแรกปี 65

2 พ.ค.2565-นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า หักปากกาเซียน !!! เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ -1.4% ในไตรมาสแรกปี 65 เดิมนักวิเคราะห์ในตลาด (ข้อมูลจาก Bloomberg) คาดการณ์ไว้ที่ 1% ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 6.9% ส่วนสาขาเฟด ที่ฟิลาเดลเฟีย สำรวจจาก Professional Forecaster 36 ราย เมื่อกลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า เฉลี่ยแล้วคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 1.8%

แต่ตัวเลขจริง เมื่อประกาศออกมา กลับไปไกลกว่าที่ทุกคนคาด ทำให้ทุกคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะข้อมูลนี้จะมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของเฟด เรื่องดอกเบี้ย และการถอนสภาพคล่องในสัปดาห์นี้  กรรมการเฟดที่คิดว่าจะขึ้น 0.75% ก็คงต้องคิดหนัก

คำถามที่ 1 คงต้องมาคิดว่า ทำไมอยู่ๆ เศรษฐกิจที่บอกว่าแข็งแกร่ง ขยายตัวได้ถึง 6.9% ในไตรมาสก่อนหน้า จึงกลับมาติดลบได้ ทั้งๆ ที่ ปกติแล้วหลังการระบาดจบลง เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีไป 2-3 ปี แต่รอบนี้  เพียงแค่ 6 ไตรมาสเท่านั้น ก็เริ่มมีการหดตัวของเศรษฐกิจให้เห็น คำถามที่ 2 จากปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนแปรปรวนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเผชิญอยู่ – โอมิครอน สงคราม เงินเฟ้อ และ Global supply shortage อะไรคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจที่ไปได้ดี กำลังไต่ระดับไปสู่เทรนด์เดิม กลับติดลบ ตกลง คำถามที่ 3 แล้วที่บอกว่าสหรัฐยังดีมาก จะขยายตัวได้ 3.7% ปีนี้ จะเป็นจริงแต่ไหน เพราะแค่ไตรมาสแรกก็พลาดเป้าไปมากแล้ว

สิ่งที่เห็นในไตรมาส 1 จะต่อเนื่องไปในไตรมาสถัดๆ ไปหรือไม่ ทั้งหมดนี้ คงต้องวิเคราะห์จากไส้ในของตัวเลข GDP ที่ออกมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งในตาราง (Contribution to growth) ที่แยกแยะว่า 6.9% ในไตรมาสที่ 4 และ -1.4% ในไตรมาสแรกเป็นผลมาจากอะไร  ที่น่าสนใจก็คือ  ส่งออกที่เคยขยายตัว 22.4% ในไตรมาสที่ 4 กลับติดลบลง 5.9% ในไตรมาสนี้ หมายความว่า เครื่องยนต์ตัวนี้มีแรงส่งต่อเศรษฐกิจลดลงจาก 2.24% เป็น -0.68% แรงส่งจากการสะสม Inventory ที่เคยสูง 5.32% ในไตรมาสที่ 4 กลายเป็น -0.84% แรงส่งจากการบริโภค การนำเข้า การลงทุนเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยสำคัญ

หมายความว่า การติดลบของ GDP ครั้งนี้ มาจาก (1) การส่งออกของสหรัฐที่แผ่วลงมาก ซึ่งน่าจะมาจาก การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น และจาก (2) การหยุดสะสมสินค้าคงคลัง ที่น่าจะมาจากการที่ได้เร่งสต็อกไปมากในไตรมาสที่ 4 แล้ว และความกังวลใจเรื่องสงคราม ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง  ซึ่งถ้าเราคำนวนเร็วๆ ถ้าสองปัจจัยนี้ไม่แย่ไปกว่านี้ (Contribution = 0% ในไตรมาสต่อไป และตัวอื่นๆ เท่าเดิม) เศรษฐกิจสหรัฐก็จะขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ได้ไม่ดีนัก (สาขาเฟด Atlanta คาดไว้ที่ 1.9%) ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงหากสถานการณ์ต่างๆ แย่ลงไปจากนี้ ตัวเลขจริงอาจจะลดลงกว่าที่ทุกคนคาดได้ 

มาลุ้นกันครับว่า เฟดจะคิดอย่างไรกับตัวเลขนี้ เพราะที่แน่ๆ คงจะมีคนถามท่านประธานเฟดแน่ๆ ในวันที่ 4 ว่า เกิดอะไรขึ้น และที่ท่านเคยบอกยืนยันว่าสหรัฐจะไม่เกิด Recession ท่านพร้อมจะเปลี่ยนคำพูด เหมือนกับที่เคยกลับคำในเรื่องอื่นๆ แล้วยัง

เพิ่มเพื่อน