“สรรพากร” ฟุ้งรีดภาษี e–Service พุ่ง 4.2 พันล้านบาท คาดทั้งปียอดวิ่งทะลุเป้าหมายหมื่นล้าน ปลื้มแพลตฟอร์มต่างประเทศแห่จดทะเบียนทะลัก 127 ราย โชว์ผลงานจัดเก็บรายได้ 6 เดือนสุดแจ่ม!! เกินเป้า 1 แสนล้านบาท
29 เม.ย. 2565 – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ(VAT for Electronic Service: VES)ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 นั้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน VES รวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 60,874.98 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค.64 – มี.ค.65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,261.25ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรจะเก็บ VES ได้ใกล้เคียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กฎหมาย VES มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising),บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce), บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription), บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency)ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย
“กฎหมายภาษี e–Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e – Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย รวมททั้งจะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้ของประเทศไทยในอนาคตด้วย” นายเอกนิติ กล่าว
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษี e- Service ซึ่งเป็นภาษีประเภทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.64 – มี.ค.65) ได้เกินเป้าตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 101,695 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14%แต่อีกส่วนมาจากเครื่องมืออื่น ๆ เช่น data analytics ซึ่งมีการนำมาใช้เต็มรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถระบุกลุ่มสาขาเป้าหมายที่มีศักยภาพได้เพิ่มเติมและตรงเป้ามากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรรพากรแจงปรับปรุงระบบเสร็จแล้วภาษีออนไลน์ได้ตามปกติ
สรรพากรแจงแล้ว ยื่นภาษีออนไลน์คลาดเคลื่อน เพราะปรับปรุงระบบ แก้ไขแล้ว ยื่นได้ตามปกติ
'สรรพากร' ปักธงรีดภาษี 2.27 ล้านล้านหวังอานิสงส์มาตรการรัฐช่วยหนุน
“สรรพากร” ปักธงรีดภาษีปีงบ 2567 พุ่ง 2.27 ล้านล้านบาท หลังประเมินเศรษฐกิจโตเฉลี่ย3% มองอานิสงส์มาตรการรัฐช่วยหนุนผลงานฉลุยตามเป้าหมาย
ป.ป.ช. ฟัน 4 ขรก.สรรพากร 'ร่ำรวยผิดปกติ' โกงเงินคืนภาษี 2 พันล้าน
นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงถึงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
สรรพากรเคาะลดหย่อนภาษีซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ