29 เม.ย.65 – ข่าวการฉ้อโกงลักทรัพย์และทุจริตในวัด ทั้งเงินที่เป็นของวัดและของพระสงฆ์ สร้างความสะเทือนใจให้กับพุทธศาสนิกชนเสมอ เพราะสะท้อนถึงความล้มเหลวในวิธีการจัดการสามัญสํานึกและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่สําคัญสะท้อนให้เห็นถึงการขาดธรรมภิบาลหรือความพร้อมที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้องในสถาบันที่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงได้จัดทําแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้และป้องกันปัญหา วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาที่วัดส่วนใหญ่ประสพ รวมถึงความพยายามในแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นงานหนึ่งที่มูลนิธิฯได้ริเริ่มและกําลังทําอยู่
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติที่บ่มเพาะจิตใจและศีลธรรมที่ดีงามให้กับสังคมไทยมาช้านานโดยมีวัดเป็นสถาบันหลักที่เชื่อมพระพุทธศาสนากับประชาชน ปัญหาสําคัญขณะนี้คือช่องว่างระหว่างศาสนากับประชาชน ที่คนไทยนับวันจะห่างไกลศาสนามากขึ้นและไปวัดน้อยลง สาเหตุมีทั้งจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ที่สําคัญและปฏิเสธไม่ได้คือการปฏิบัติตนของสถาบันสงฆ์ที่กระทบความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนมีต่อวัด ทําให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพุทธศาสนาลดน้อยลง
ในความเห็นมูลนิธฯ จุดอ่อนสําคัญที่กระทบศรัทธาที่ประชาชนมีต่อวัดคือการบริหารวัดที่ขาดธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารจัดการที่เป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ จุดอ่อนนี้สะท้อนให้เห็นจากสามเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญที่วัดส่วนใหญ่ประสพอยู่ขณะนี้
หนึ่ง วัดขาดระบบงานที่ชัดเจนในการบริหารเงินหมายถึงรายรับรายจ่ายและระบบบัญชี ทําให้การบริหารเงินของวัดมีการปฏิบัติที่หลากหลายและแตกต่างกันมากโดยเฉพาะวัดขนาดใหญ่กับวัดขนาดเล็ก ไม่เป็นมาตราฐาน รวมถึงไม่โปร่งใส ทําให้อ่อนไหวง่ายต่อการทําผิดพลาดต่างๆ
สอง การตัดสินใจในการบริหารวัดขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสเป็นหลัก ทําให้การบริหารวัดขาดการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในวัดและประชาชนในพื้นที่ ที่สามารถให้คําแนะนําถ่วงดุลและปกป้องเจ้าอาวาส การตัดสินใจของเจ้าอาวาสเพียงลําพังอาจพลาดพลั้งหรือผิดพลาดได้แม้ไม่มีเจตนา
สาม ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวขัองในการบริหารจัดการวัด ทั้งเจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ไวยาวัจกร และฆราวาสที่เข้ามาช่วยงานวัด ส่วนใหญ่จะขาดความรู้ในเรื่องการบริหาร ขาดความเข้าใจเรื่องระบบงาน และการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ที่สําคัญวัดขาดกระบวนการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาช่วยงานวัดที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้คนดีมีความสามารถ ไว้วางใจได้และศรัทธาในพระพุทธศาสนาเขัามาช่วยงานวัด
นี่คือสามปัญหาที่วัดส่วนใหญ่ประสพอยู่ขณะนึ้ ทั้งวัดเล็กและวัดใหญ่ ส่งผลต่อศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนและความสามารถของวัดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กล่าวคือเมื่อศรัทธาถูกกระทบ การสนับสนุนของประชาชนก็ลดลงไม่ทั่วถึง ทําให้ความเหลื่อมลํ้าระหว่างวัดขนาดใหญ่กับวัดขนาดเล็กยี่งมีมาก ทั้งในเงินบริจาคและจํานวนพระสงฆ์ในวัด นําไปสู่ปัญหาวัดร้างและการขาดแคลนพระที่จะทําหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลมีความเห็นว่าปัญหาเหล่านี้สําคัญและสามารถแก้ไขได้ โดยการแก้ไขต้องให้ความสําคัญกับหลักคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาและการบริหารในสามเรื่อง
หนึ่ง วัดสร้างขึ้นโดยศรัทธาของประชาชน ประกอบขึ้นด้วยสองส่วน คือ พระและฆราวาส วัดเกิดจากศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระมีต่อเจ้าอาวาส วัดจึงเป็นของประชาชน การบริหารวัดเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพระและฆราวาส
สอง การบริหารวัดต้องเน้นหลักดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับการบริหารสังฆะในอดีต คือให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วม การตัดสินใจเป็นหมู่คณะ และการแบ่งปันช่วยเหลือ(สาธารณโภคิตา) เพื่อให้เกิดความสามัคคีและความยั่งยืน
สาม วัดตัองมีระบบงานกลางที่เป็นมาตรฐานที่วัดใช้ร่วมกัน เช่น ระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติ และการบริหารความเสี่ยง มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยบุคคลภายนอก เช่นผู้สอบบัญชีอิสระ และวัดมีผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วยการปฏิบัติงานของวัดเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย นี่คือหลักการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล
สะท้อนแนวคิดข้างต้น มูลนิธิๆได้จัดทําแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นแนวทางให้วัดสามารถนําไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขความอ่อนแอในการบริหารจัดการ แบ่งเป็นเเนวปฏิบัติเก้าข้อดังนี้
1. วัดบริหารโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ไวยาวัจกร และฆราวาสที่ได้รับการคัดเลือก มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน ในกรณีวัดขนาดใหญ่ โครงสร้างการบริหารประกอบด้วยคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการกํากับดูแล มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยพระสงฆ์ในวัด ไวยาวัจกรและฆราวาสที่ได้รับการคัดเลือก ทําหน้าที่บริหารวัด เจ้าอาวาสแต่งตั้งและถอดถอนคณะกรรมการบริหาร
การบริหารโดยคณะกรรมการทําให้การบริหารวัดทําเป็นหมู่คณะ มีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในวัดและฆราวาสเพื่อระดมความคิดและร่วมกันตัดสินใจ ในกรณีวัดขนาดใหญ่ การเเยกการบริหารออกจากการกํากับดูแลโดยคณะกรรมการสองชุดจะทําให้การบริหารวัดมีการกํากับดูแลที่เป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นหลักสําคัญของธรรมาภิบาล
2. วัดกําหนดคุณสมบัติและวาระการดํารงตําแหน่งของฆราวาสที่เข้ามาทําหน้าที่กรรมการวัดและไวยาวัจกร กรรมการและไวยาวัจกรมีการเสนอชื่อโดยชุมชน มีการประเมินผลการทําหน้าที่ของกรรมการที่เป็นฆราวาสและไวยาวัจกรก่อนครบวาระเพื่อการต่อวาระในการทําหน้าที่
3. เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ไวยาวัจกร และฆราวาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ควรมีการพัฒนาความรู้เรื่องการบริหาร พระธรรมวินัย กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของวัด และธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารงานวัดประสพความสําเร็จ
4. วัดกําหนดพันธกิจนโยบายและระเบียบที่สําคัญเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้ทราบทั่วกัน เช่น นโยบายรับบริจาค นโยบายการใช้เงินบริจาคตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค นโยบายการจัดการเงินและทรัพย์สินของพระสงฆ์ในวัด นโยบายแจ้งเบาะแสพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคลากรในวัด นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และนโยบายสาธารณโภคีธรรมที่แบ่งปันเงินบริจาคและทรัพยากรที่วัดมีส่วนหนึ่งให้กับวัดที่ขาดแคลน เป็นต้น
การกําหนดนโยบายก็เพิ่อให้ประชาชนรับทราบแนวทางการดําเนินการของวัด และป้องกันการปฏิบัติโดยฝ่ายบริหารที่ผิดหรือนอกเหนือไปจากที่วัดกําหนดเป็นนโยบาย
5. วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน มีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพียงพอช่วยจัดทํารายงานทางการเงินและดูแลการบัญชีของวัด
6. วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ ตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในของวัดและรายงานตรงต่อเจ้าอาวาส แต่งตั้งผู้สอบบัญชีอิสระตรวจสอบความถูกต้องและมาตรฐานการจัดทําบัญชีของวัดเพื่อให้รายงานทางการเงินของวัดถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรฐาน
7. วัดจัดทํารายงานทางการเงินและรายงานต่างๆตามระเบียบและมาตรฐานที่สํานักงานพุทธศาสนาแห่งชาติกําหนด
8. วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจลักษณะทั้งขัอมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน ข้อมูลการเงินได้แก่ รายงานฐานะทางการเงินของวัดที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีว่าถูกต้อง ครบถ้วน เป็นรายไตรมาสและรายปี ข้อมูลที่ไม่ใช่การเงินเช่น นโยบายคําสั่งและระเบียบต่างๆที่ออกโดยเจ้าอาวาส รายงานประจำปี มีระบบตอบคําถามและสร้างความเข้าใจกรณีมีคําถามเกี่ยวกับข้อมูลที่เปิดเผย
9. คณะกรรมการยึดแนวปฏิบัติที่ดีในการทําหน้าที่ เช่นคณะกรรมการวัดประชุมตามตารางเวลาประชุมที่แน่นอน เป็นที่ทราบล่วงหน้า มีวาระการประชุม มีการจดบันทึกและจัดทํารายงานการประชุม คณะกรรมการเข้าประชุมโดยพร้อมเพียงกันและร่วมกันตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง เคารพกฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มองประโยชน์ของวัดเป็นสําคัญ และมีความโปร่งใสในการทําหน้าที่
นี่คือแนวปฏิบัติเก้าขัอที่มูลนิธิฯมองว่าเป็นเรื่องที่วัดควรทําในแง่ธรรมาภิบาล เพื่อช่วยสร้างความเข็มแข็งให้กับการบริหารวัดและรักษาศรัทธาที่ประชาชนมีต่อวัดและพระพุทธศาสนา
เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ มูลนิธิฯกําลังร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) เชิญชวนวัดที่สนใจนําแนวปฏิบัติทั้งเก้าข้อนี้ไปปฏิบัติใช้โดยสมัครใจ ให้เป็นตัวอย่างของวัดที่มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยทีมงานมูลนิธิฯจะเข้าช่วยวัดที่สมัครใจในการวางระบบงาน และแนะนําการปฏิบัติตามระบบงานและแนวปฏิบัติที่ดีจนวัดสามารถทําได้ด้วยตนเอง นี่คือสิ่งที่มูลนิธิฯกําลังทําอยู่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในวัดซึ่งเป็นสถาบันหลักที่สําคัญของประเทศ ผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการร่วมเป็นกำลังช่วยเหลือในเรื่องนี้ สามารถติดต่อมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้ที่ [email protected] ก็หวังว่าจะได้ร่วมทำงานด้วยกัน
เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล