กองทุนน้ำมันฯชี้ช่องต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่ผสมพืชพลังงานอีก 2 ปี

สกนช.วุ่นจ่อขอรัฐต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่ผสมพืชพลังงาน อีก 2 ปี หวั่นประชาชนและเกษตรกรปรับตัวไม่ทัน พร้อมสรุปข้อมูลทำแผนยกเลิกอุดหนุนในอนาคต เหตุราคาสูง แนะหาตลาดใหม่ และนำเชื้อเพลิงชีวภาพไปผลิตไฟฟ้า-เวชภัณฑ์

29 เม.ย. 2565 – นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จ.กาฬสินธุ์ ว่า ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 55 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ระบุให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องทยอยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องยกเลิกการชดเชยในเดือนก.ย. ปี 2565 แต่กฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีความจำเป็น หรือมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนสามารถขยายระยะเวลาที่จะยกเลิกการชดเชยได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี หรือสามารถเลื่อนแผนดังกล่าวไปได้ถึงปี 2569

​ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศต้องเผชิญทั้งปัญหาการระบาดของโรคโควิด และวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคการเกษตรที่ปลูกพืชพลังงานที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประกอบด้วย สกนช.จึงได้เร่งจัดเก็บข้อมูลเอทานอลเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนขยายเวลาลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในส่วนของไบโอดีเซลแล้ว และล่าสุดครั้งนี้ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในส่วนของเอทานอลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมเป็นน้ำมันเบนซิน

” สกนช. จะเร่งสรุปข้อมูลที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่สำรวจนำมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป”นายวิศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องศึกษาแนวทางรองรับหากจะต้องยกเลิกการการชดเชยในอนาคต เนื่องจากราคาในปัจจุบันเริ่มสูงมากขึ้นหากนำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอาจจะกระทบกับราคาขายปลีก ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อระบายสต็อกผลผลิตจากเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซล(B100) และเอทานอล รวมถึงนำผลผลิตจากทั้งอ้อยและปาล์มไปสนับสนุนการใช้งานในทั้งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ป้องกันโควิด-19 โดยเบื้องต้นในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการได้นำผลผลิตของเชื้อเพลิงชีวภาพไปใช้งานอย่างอื่นแล้ว รวมถึงนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อรับกับเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามาแทนที่รถใช้น้ำมันมากขึ้น

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำเดือน เม.ย. 2565 มีรายจ่ายประมาณเดือนละ 22,242 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 20,779 ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,174 ล้านบาท ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เม.ย. 2565 ติดลบ 56,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976 ล้านบาท

เพิ่มเพื่อน