“ธ.ก.ส.” ปักธงปีบัญชี 65 ลุยปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่งแตะ 5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ลุยแก้ปมหนี้เสียเหลือ 4.50% พร้อมแจงผลงานปีบัญชี 64 อัดสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชนบท 6.6 แสนล้านบาท เงินฝากทะลักเข้า 1.2 แสนล้านบาท รับเกษตรกรอ่วมพิษโควิด-ราคาต้นทุนการผลิต
27 เม.ย. 2565 – นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการทบทวนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีบัญชี 2565 (1 เม.ย. 65-31 มี.ค. 66) จากเดิมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม 30,000-50,000 ล้านบาท โดยจะผลักดันให้ได้ 50,000 ล้านบาท ผ่านการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ขณะที่เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะควบคุมให้อยู่ที่ระดับ 4.50%
“ในปีนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหมายเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร หนุนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืน และเน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้เกษตรกร มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมเป็นร่มสนับสนุนและดูแลเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ไม่หุบร่ม แม้ต้องเผชิญวิกฤติ” นายธนารัตน์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย.64-31 มี.ค. 65) นั้น ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบทในระหว่างปี จำนวน 667,971 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ 1,606,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 35,485 ล้านบาท หรือ 2.26% ขณะที่ยอดเงินฝากสะสม อยู่ที่ 1,901,801 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 120,329 ล้านบาท หรือ 6.75% มีสินทรัพย์ 2,236,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.73% หนี้สินรวม 2,086,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และส่วนของเจ้าของ 149,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.17%
โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 98,610 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 91,031 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 7,579 ล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 6.63% ธนาคารมีการตั้งสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 400% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ 12.43% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนด
“ปีที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงราคาต้นทุนการผลิต ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร โดยในปีบัญชี 2565 ธนาคารตั้งเป้าบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในระดับ 4.50% ยอมรับว่าเป็นระดับที่ยากลำบาก แต่จากคาดการณ์สินเชื่อใหม่ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น มาตรการดูแลหนี้เก่า ผ่านการพบปะลูกค้าเพื่อตรวจสุขภาพลูกหนี้ และการจัดกลุ่มลูกหนี้น่าจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เสียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายธนารัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าในช่วงโควิด-19 ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการชำระดีมีคืน ที่ได้ดำเนินการคืนดอกเบี้ยให้ลูกค้า 1,337,373 ราย คิดเป็นเงินกว่า 1,024 ล้านบาท 2. โครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด โดยได้ดำเนินการลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่มีภาระหนัก 184,920 ราย คิดเป็นเงิน 1,259 ล้านบาท และ 3. โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน ดำเนินการปรับโครงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 3,702 สัญญา วงเงิน 1,697 ล้านบาท
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้โอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้ว5.1 ล้านราย วงเงิน 88,398 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต และการเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.63 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 53,827 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปีนี้คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปีนี้จะขยายตัวราว 2% โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่มีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยความผันผวนด้านราคาน้ำมัน ที่เปิดโอกาสให้พืชทดแทนเข้าไปเป็นทางเลือก ขณะที่แนวโน้มราคาทุเรียนในปีนี้อาจจะชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากกำลังซื้อจากจีนที่ชะลอตัวลง ดังนั้นจึงต้องเร่งขับเคลื่อนกำลังซื้อและความต้องการในการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรเฮ! ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25%
ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุดร้อยละ 0.25 พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งเสริมวินัยการออม
'ภูมิธรรม' ยันยังไม่เลิก 'ไร่ละพัน' แจง 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' หวังช่วยชาวนาอีกทาง
'ภูมิธรรม' แจงไม่ได้ยกเลิกไร่ละพัน พร้อมดึงกลับมาใช้ถ้าราคาข้าวตก ย้ำคนละส่วนกับปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ สส. รุมค้าน เหตุไม่เข้าใจถ่องแท้ไปฟังเกษตรกรมา
สุดอึ้ง!จุลพันธ์ตีขลุมเสร็จสรรพบอกดิจิทัลฯ สุ่มเสี่ยงแสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย
'จุลพันธ์' แจงเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ให้มีความเหมาะสมขึ้น ยันปลายปีนี้เงินถึงมือ ปชช.แน่นอน ย้ำไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์