รถไฟฯ-สกพอ.ถกปมรถไฟเชื่อมสามสนามบิน เคาะขยายเวลาต่ออีก 3 เดือน หลังส่งมอบที่ดินให้เอกชนยังไม่ได้ข้อยุติ ด้าน รฟท.ส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดตีความ สรุปประเด็นเงื่อนไขต่างๆคาดเริ่มงานต้องปรับไทม์ไลน์ใหม่
25 เม.ย. 2565 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จากที่รฟท.ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทาน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบ จากโควิด-19 มีกรอบเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขยายออกไปแล้ว 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 2565 นั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายต่อสัญญาออกไปอีก 3 เดือน หรือถึงวันที่ 24 ก.ค.2565 โดยรฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ).และ บริษัท เอเชียเอราวันฯได้ตกลงร่วมกันแล้ว และจะรายงานความคืบหน้าการเจรจารวมถึงการต่อ MOU อีก3 เดือนต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตามขณะนี้เรื่องการส่งมอบพื้นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ทางเอกชน ยังไม่ยอมรับการออกหนังสือเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ในเดือน พ.ค. 2565 โดยการส่งมอบที่ดินมักกะสัน ยังมีปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ และถือว่าการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วนตาม ดังนั้นหากขยาย MOU ออกไปอีก 3 เดือน จะทำให้ระยะเวลาการชำระคืนค่าก่อสร้างต้องเลื่อนไปจากเดิมด้วย รวมถึงจะต้องไม่กระทบกรอบในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อน ที่ครม.ไม่ต้องการให้เพิ่มภาระงบประมาณ ซึ่งรฟท.จะหารือกับ สกพอ. ถึงการดำเนินการและการเจรจาที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลว่าต้องมีการปรับปรุงอย่างไรเพื่อเพิ่มความรอบคอบอีกหรือไม่ รวมถึง ร่วมกันวางแผนต่อจากนี้ เป็นการดำเนินการคู่ขนานในระหว่างรอผลการหารือ อัยการสูงสุดและกฤษฎีกาสรุปผลออกมา
ทั้งนี้ รฟท. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ ที่ได้มีการเจรจากับคู่สัญญาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่อีกด้วย เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบ รัดกุม โดย รฟท. ยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุด รฟท. มิได้เพิกเฉยต่อการบริหารงบประมาณ หรือข้อตกลงต่างๆ ที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และพยายามดำเนินการในกระบวนการต่างๆ อย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้าน สกพอ. ที่ผ่านมาก็พยายามกำกับดูแลให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้โดยเร็ว
รายงานข่าวแจ้งว่าปัญหาส่งมอบพื้นที่บริเวณบึงเสือดำ เป็นพื้นที่ช่วยระบายน้ำเป็นแก้มลิงของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ปัจจุบันพื้นที่มีสภาพแห้ง ไม่มีน้ำแต่อย่างใด โดย รฟท.ได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รับน้ำใหม่ให้กทม.แล้ว ดังนั้น จุดนี้จึงไม่เป็นปัญหาในการส่งมอบ ส่วนลำรางสาธารณะ ซึ่งรฟท.เห็นว่าไม่มีข้อสัญญาใดที่ระบุว่า รฟท.ต้องเพิกถอนลำรางสาธารณะ แต่ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาได้ ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดออกจากสถานะลำรางสาธารณะแล้ว โดยตามขั้นตอนคาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่เอกชนไม่ยอมรับ
รายงานข่าวจาก สกพอ. แจ้งว่าจากกรณีการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยระบุว่าภาครัฐเสียเปรียบเอกชนคู่สัญญาในหลายประเด็นด้วยกัน ส่งผลให้ สกพอ. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการ และ รฟท. ในฐานะเจ้าของโครงการ ย้ำว่าการโอนและชำระค่าบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL)จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และรุนแรง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นภายหลังการลงนามสัญญาโครงการฯ ส่งผลให้รัฐต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ARL ลดลง จากเดิม 80,000 คนต่อวัน เหลือประมาณ 30,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้ส่งผลให้เกิดการขาดทุนค่าดำเนินการประมาณ 68 ล้านบาทต่อเดือน โดยยังคงไม่มีแนวโน้มว่าผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการเช่นเดิม จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สถาบันการเงินไม่สามารถให้เงินทุนกว่า 10,000 ล้านบาทแก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อชำระค่าสิทธิให้ รฟท. ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เพื่อไม่ให้บริการของ ARL สะดุดหรือหยุดลง รฟท. และเอกชนคู่สัญญาตกลงกันให้เอกชนคู่สัญญาสนับสนุนการเดินรถ ARL เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิบริหารจัดการและไม่ได้เป็นการส่งมอบ ARL ให้เอกชนคู่สัญญาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามปัจจุบันรายได้จากค่าโดยสารยังเป็นของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยชำระค่าสิทธิให้รัฐไม่น้อยกว่า 1,067 ล้านบาทต่อปี เมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนคู่สัญญาสิ้นสุดลง รฟท. ก็จะได้รับชำระเงินค่าสิทธิ ARL ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ ARL ได้อย่างต่อเนื่อง และ รฟท. ไม่ต้องแบกภาระการขาดทุนของ ARL ทั้งยังได้รับค่าสิทธิ ARL ครบจำนวนอีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่ากรณีการแก้ไขปัญหาทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รฟท. ได้เจรจาให้เอกชนคู่สัญญา เริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ก่อนกำหนดในสัญญา นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟไทย-จีน เพิ่มความเร็วการเดินรถไฟและเปลี่ยนมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างจากยุโรปเป็นจีน ส่งผลให้เอกชนคู่สัญญามีงานและค่าก่อสร้างเพิ่มจากสัญญาเดิม 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างดังกล่าว โดยรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในส่วนนี้
ทั้งนี้ รฟท. จึงชดเชยงานและค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นของเอกชนคู่สัญญา ด้วยการปรับวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน จากเดิมที่รัฐเริ่มชำระหลังงานก่อสร้างทั้งโครงการแล้วเสร็จ เป็นทยอยชำระระหว่างการก่อสร้างและให้เอกชนคู่สัญญาวางหลักประกันสัญญาเพิ่ม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงการกู้เงินของเอกชนคู่สัญญาลดลง ส่งผลให้เอกชนคู่สัญญาประหยัดค่าดอกเบี้ยลงซึ่งจะถูกส่งคืนกลับสู่รัฐทั้งหมด ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณไม่น้อยกว่า 17,000 ล้านบาท จากการชำระเงินร่วมลงทุนที่น้อยลงและไม่ต้องจ่ายค่างานก่อสร้างส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 9,207 ล้านบาท ที่สำคัญการแก้ปัญหาทับซ้อนช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง จะช่วยให้ทั้ง 2 โครงการสามารถเดินหน้าก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามกำหนด ประชาชนได้ประโยชน์จากบริการสาธารณะ และช่วยให้รัฐสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ
ซีพีวางเป้าศูนย์กลางการเรียนรู้ จับกลุ่มเด็กและเยาวชน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัทในเครือฯ ได้ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยในนิทรรศการ “The Globe Vengers” หรือ ฮีโร่พิทักษ์ความยั่งยืน ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพกแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ระหว่าง 16-25 สิงหาคม 2567 ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยซีพีตั้งเป้าหมายเพื่อเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” (Learning Center) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและสร้างอนาคตที่ดีกว่า
'ซีพีเอฟ' ขยับแล้วปม 'ปลาหมอคางดำ' ชู 5 โครงการเร่งด่วน
ซีพีเอฟ พร้อมเร่งสนับสนุนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ขานรับมาตรการรัฐบาล ขับเคลื่อน 5 โครงการอย่างเร่งด่วน ประสานความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำบูรณาการเชิงรุกในหลายมิติ
‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่มเวลาเปิดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์
‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ แจ้งขยับเวลาเปิดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์เร็วขึ้น จากตี 5 เป็น ตี 4 รวม 4วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมจัดมาตรการคุมเข้มความปลอดภัย
'สุทิน' ควง 'เจ้าสัวธนินท์' สักขีพยาน MOU กลาโหมจับมือซีพี
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม กับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด