'บิ๊กตู่' ชูความเป็นส่วนหุ้นใจถึงใจ 'อาเซียน-ญี่ปุ่น'

“นายกฯ” ย้ำไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบใจถึงใจ และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม

27 ต.ค.2564 - ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24 ผ่านระบบประชุมทางไกล พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการประชุมว่า นายกฯ รีญี่ปุ่นเน้นย้ำความสำคัญกับอาเซียน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-เเปซิฟิก (AOIP) เเละข้อริเริ่ม Free and Open Indo-Pacific (FOIP) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ญี่ปุ่นห่วงกังวลต่อกรณีพิพาทในภูมิภาค และสถานการณ์ในภูมิภาค

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต้อนรับนายกฯ ญี่ปุ่นสู่ครอบครัวอาเซียนและการประชุมในครั้งนี้ ชื่นชมความสำเร็จของญี่ปุ่นในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าการประชุมฯเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและญี่ปุ่น จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีพลวัตและก้าวหน้าในทุกมิติ โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ขอกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ดังนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นได้รักษามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันมาเกือบ 50 ปี บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งการร่วมกันฟันฝ่าความท้าทายที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นมิตรแท้ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

นายธนกรเผยอีกว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าอาเซียนขอบคุณและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่ญี่ปุ่นได้สนับสนุนอาเซียนในรูปแบบต่าง ๆ ในการรับมือกับโควิด-19 ยกระดับความร่วมมือและการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการระบาดหากเกิดระลอกใหม่ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ขอบคุณเงินสนับสนุนจากญี่ปุ่น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด - 19 และขอบคุณการสนับสนุนเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งมุ่งหวังว่าจะสามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้ในโอกาสแรกสุด

นายธนกร กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงคุณค่าของญี่ปุ่นที่ได้ให้การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในด้านต่างๆ โดยด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนมุ่งมั่นที่จะสานต่อการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ทั้งในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือด้านกลาโหมผ่านกรอบ ADMM Plus ตลอดจน มุ่งเสริมสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ผ่านกลไกความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้มุมมอง AOIP (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)

โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุอีกว่าด้านเศรษฐกิจอาเซียนเป็นฐานการลงทุนและการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นมายาวนาน อาเซียนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานโลกของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน อาเซียนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลง AJCEP (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) และประสงค์ให้ RCEP มีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก นอกจากนี้ อาเซียนยินดีกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และเพื่อศักยภาพของ MSMEs ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือสิ่งจำเป็นในยุค 4IR มาใช้ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับญี่ปุ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการสอดประสานกันระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 กับ ข้อริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพของญี่ปุ่น ที่มีความสอดคล้องกับข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงของอาเซียน

โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาด้านดิจิทัล อาเซียนเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนต่อไปเพื่อส่งเสริมการรวมตัวในภูมิภาคและลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน โดยเฉพาะผ่านแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 สังคมและวัฒนธรรม มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษาและกีฬา อย่างต่อเนื่อง เห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การดูแลผู้สูงอายุและการบริหารจัดการสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งและความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้สนับสนุนการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และหวังว่าจะแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคต

และประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ยืนยันถึงความสำคัญของการส่งเสริมการจัดระเบียบในภูมิภาคและระเบียบระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎและกติกา โดยยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญา UNCLOS ค.ศ. 1982 เน้นการักษาสันติภาพ เสถียรภาพและเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านในทะเลจีนใต้ และการดำเนินการตาม DOC (2002 Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ทั้งนี้ ยินดีกับความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของ COC ที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอาเซียนเน้นย้ำการหารืออย่างสันติเพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยพร้อมที่จะมีบทบาทสร้างสรรค์ ผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ เช่น ARF

“นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นให้ก้าวไกล มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป โดยในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2023 นี้ เป็นโอกาสที่อาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมกันทบทวนความสำเร็จและบทเรียนที่ผ่านมา กำหนดทิศทางการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในอนาคต ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมผลักดันการจัดการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ ที่ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2023 ตามความประสงค์ของญี่ปุ่น”โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!

'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน