“คมนาคม”ตรวจอาคารดอนเมืองพังถล่ม เสียหาย 20 ล้าน นัดสรุป 29 เม.ย.นี้ สั่งทุกสนามบินเช็กความแข็งแรงทุกอาคารไม่ให้ซ้ำรอยขณะที่ ทอท. จี้ผู้รับเหมาคืนสภาพอาคารใน 1 สัปดาห์
21 เม.ย. 2565 – นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกำแพงอาคาร Service Hall ท่าอากาศยานดอนเมืองพังถล่ม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเสียหายในเบื้องต้น และได้กำหนดแนวทางในการทำงาน โดยตั้งคณะทำงาน 2 คณะ แบ่งเป็น คณะแรกดูแลการตรวจสอบด้านวิศวกรรม และคณะที่สอง ตรวจสอบด้านสัญญาว่าดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้จะประชุมสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.2565
นายพศักดิ์ กล่าวว่า ได้กำชับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตรวจสอบทุกอาคารของท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารผู้โดยสาร รวมทั้งอาคารต่างๆ ภายในท่าอากาศยานนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. กล่าวว่า สาเหตุเบื้องต้นคาดว่า ตัวคานรับรางระบายน้ำ รับน้ำฝน และลมพัดเข้ามาปริมาณมาก จึงเกิดการบิดตัวขึ้นสองช่วงเสา ทำให้กำแพงพังลงมา ซึ่งอาคารนี้สร้างเสร็จเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.63 ยังไม่ได้มีการเปิดใช้งาน ในขณะเกิดเหตุไม่มีผู้โดยสาร และมีเจ้าหน้าที่อยู่ในบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ปิดกั้นพื้นที่ เพื่อให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจความเสียหาย กำแพง คานรับน้ำฝน และโครงสร้างหลัก ว่ามีความกระทบหรือไม่
นายกีรติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงประกัน ผู้รับเหมาต้องเข้ามาดำเนินการซ่อมแซม โดยตั้งกรอบการดำเนินการให้คืนสภาพภายใน 1 สัปดาห์ และก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนหมดประกัน เบื้องต้นประเมินความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท จากมูลค่าอาคารทั้งหลัง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามขอให้ผู้โดยสารมั่นใจได้ในความปลอดภัยเมื่อมาใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง โดยอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 มีความแข็งแรง ส่วนอาคาร Service Hall ที่เกิดเหตุนั้น มีการออกแบบให้รองรับแรงลม แรงพายุอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามกรณีสัญญาการว่าจ้างที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีความผิดปกตินั้น ขอชี้แจงว่าโครงการนี้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด จะได้ลงนามสัญญากับ ทอท. แต่ผู้ที่ชนะการประมูลรายแรกไม่ยอมมาลงนาม แม้จะแจ้งให้เข้ามาลงนามเป็นเวลา 4-5 เดือนแล้ว จึงยืนยันว่า ทอท. ไม่ได้นำงานนี้ไปให้อีกบริษัทแน่นอน อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อตรวจสอบของสัญญาให้สิ้นข้อสงสัย ส่วนการปรับ หรือลงโทษบริษัทผู้รับเหมานั้น ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน