แบงก์ชาติชี้ศก.ไทยยังเสี่ยงเงินเฟ้อจ่อทะลุ 5%

“แบงก์ชาติ” ชี้ระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง หวั่นปัญหา global supply disruption แรงกว่าคาด ค่าครองชีพทะยานกระทบการบริโภค รับไตรมาส 2-3 เงินเฟ้อจ่อพุ่งสูงกว่า 5% หลังราคาพลังงานขยับไม่หยุด ลุ้นปลายปี 65 ถึงต้นปี 66 ทุเลา ชมเปาะมาตรการกระตุ้นภาคการคลังเป็นพระเอก ประคองเศรษฐกิจช่วงโควิด ลุ้นครึ่งหลังปี 66 จีดีพีกลับมาโตใกล้เคียงก่อนโควิด

19 เม.ย. 2565 – นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมี.ค. 2565 ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ที่ 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% และปี 2566 อยู่ที่ 4.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% จากปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

“ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบผ่านเรื่องราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก และส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิต กำลังซื้อ ค่าครองชีพให้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนผลกระทบผ่านช่องทางการค้าและตลาดเงินยังมีจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปรัสเซียน้อย เพียง 0.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2564” นายสักกะภพ กล่าว

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ไม่กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่าระรอกเดลต้า จึงคาดว่าน่าจะไม่มีมาตรการควบคุมในลักษณะที่เข้มงวดในวงกว้าง รวมทั้งการทยอยผ่อนคลาย และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นไปตามคาดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2565 ดังนั้นจึงคาดว่าในปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ที่ 7% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 1.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ อยู่ที่ 5.6 ล้านคน ส่วนปีหน้าเหลือ 19 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 20 ล้านคน

นายสักกะภพ กล่าวอีกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงระยะสั้นช่วง 6 เดือนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหา global supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด, ผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากจนกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน, การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังพอจะมีปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่ากรณีฐาน คือ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชะลอการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่คาด ที่ระดับ 4.9% และปีหน้าที่ 1.7% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 2-3/2565 อาจสูงกว่า 5% ก่อนจะปรับลดลงมาในช่วงไตรมาส 4/2565 ถึงต้นปี 2566 จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับสูงมาก และการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปีหน้า

นอกจากนี้ ประเมินว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. (มาตรการ 3 ก.ย.) ตัวเลขหนี้เสียคงมีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มในลักษณะก้าวกระโดด ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินมีการติดตามดูแลเรื่องการกันสำรอง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า โดยน้ำหนักสำคัญคือต้องทำให้มั่นใจว่ารายได้ของครัวเรือนกลับมาได้เร็ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานหลัง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% และไม่อ่อนไหวตามความผันผวนของราคาระยะสั้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะบรรเทาลง ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินนนั้น จะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า โดยสามารถมองข้ามผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในช่วงนี้ได้ แต่ก็จำเป็นต้องสื่อสารที่มาของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นให้สาธารณชนได้เข้าใจ

“ยังไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นในหมวดสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวดอาหารสดและราคาพลังงาน เป็นการส่งผ่านปกติ ขณะเดียวกันข้อมูลล่าสุดชี้ว่าโมเมนตั้มของ relative price changes ที่สำคัญบางตัว เช่น อาหารสำเร็จรูป เริ่มชะลอลง” นายสุรัช กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ พัฒนาการของเงินเฟ้อ เช่น การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ แรงกดดันค่าจ้าง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ และเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธปท. กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา นโยบายการคลังและนโยบายการเงินทำงานควบคู่กันเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นวิธีที่จะดูแล shocks รุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้ดีที่สุด โดยหากดูตัวเลขโดยรวมของมาตรการกระตุ้นจากภาคการคลังของไทย ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งการใช้จ่ายภาคการคลังในช่วงโควิด-19 นั้น ถือเป็นพระเอกในการรองรับแรงกระแทกจาก shocks ใหญ่ได้ ขณะที่ภาพรวมเสถียรภาพการคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หนี้สาธารณะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ สะท้อนว่าบทบาทของนโยบายการคลังในสถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งสำคัญ และหลายประเทศทั่วโลกก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

“ประเมินว่าระดับของจีดีพีไทยจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปี 2566 และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตัวเลขจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยในช่วงนี้ยังต้องมีการพิจารณาข้อมูลความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนประเด็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น จากพื้นฐานเศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง จึงทำให้ปัจจุบันจะมีส่วนต่างที่ค่อนข้างมากระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ แต่ยังถือว่ามีผลค่อนข้างจำกัดต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่พบกว่าเป็นการไหลออกไปมาก หรือมีการไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และจะเห็นได้จากค่าเงินบาทตั้งแต่ช่วงต้นปี ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นจึงถือว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงไม่เป็นประเด็นที่กังวลมากนัก” นายปิติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน