"ศักดิ์สยาม" เปิดงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โครงการ “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ปลอดอุบัติเหตุ - ปลอดโควิด 19”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนโครงการ “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ปลอดอุบัติเหตุ - ปลอดโควิด 19” จัดโดยมูลนิธิเมาไม่ขับร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี โดยมีนายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และผู้แทนกรมควบคุมโรค ให้การต้อนรับ ในวันที่ 8 เมษายน 2565 ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และอุบัติเหตุบนท้องถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2565 โดยให้หน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนถือปฏิบัติตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) อย่างเคร่งครัด เนื่องจากจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 จำนวนมาก ซึ่งจากสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 277 คน และบาดเจ็บจำนวน 2,357 คน ซึ่งนับเป็นความสูญเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดนโยบายอำนวยความสะดวก     และความปลอดภัยในการบริการขนส่งสาธารณะและบนโครงข่ายคมนาคมอย่างบูรณาการ รวมถึงดูแลการเดินทางตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยยึดหลัก “ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ ปลอดโควิด-19 ปลอดอุบัติเหตุทางถนน สวมหน้ากากอนามัย มีสติไม่ประมาท” จึงได้มอบนโยบายและสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อม กำกับดูแลการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงได้บริหารมิติด้านการจราจรตามมาตรการ “คนบ้านใกล้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ทีหลัง และเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ก่อน” โดยขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า  เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า - ออกกรุงเทพฯ โดยขอความร่วมมือดังนี้ ขอให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ในรัศมี 200 - 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ) ให้เดินทางออกทีหลัง - กลับไว โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2565 และกลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2565 สำหรับคนบ้านไกลขอให้เดินทางออกไว - กลับทีหลัง โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงวันอังคารถึงวันพุธที่ 12 - 13 เมษายน 2565 และกลับเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 - 17 เมษายน 2565 ซึ่งได้มีการประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดค่าธรรมเนียมการเดินทางของรถโดยสารประจำทางลง 20% ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2565 และลดค่าอัตราค่าเช่าเหมาของรถโดยสารไม่ประจำทางเหลือ 4,999 บาทต่อวัน ระหว่างวันที่ 6 - 12 เมษายน 2565  

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้ความสำคัญกับการให้บริการขนส่งสาธารณะ      อย่างปลอดภัย โดยจะต้องกำกับดูแลทั้งในส่วนของตัวรถที่นำมาให้บริการให้มีสภาพที่มั่นคงแข็งแรงครบถ้วน    มีความพร้อมต่อการให้บริการ รวมถึงในส่วนของพนักงานขับรถที่จะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ มีการพักผ่อนเพียงพอ ปราศจากแอลกอฮอล์และสารเสพติด สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้โดยสารขอให้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความพร้อมทั้งของรถและผู้ขับขี่ก่อนการเดินทาง และขับขี่มีอย่างมีน้ำใจ รักษากฎจราจรอย่างเคร่งครัด และใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยหรือหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง และที่สำคัญคือ เมาไม่ขับ โทรไม่ขับ และง่วงต้องพัก นอกจากนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางมายังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดย บขส. ได้เตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับบริการประชาชน

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันตนเองจากการ    แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สติกเกอร์ ของที่ระลึก แผ่นพับและคู่มือการเดินทางสงกรานต์อย่างไรให้ปลอดภัยและอันตรายจากการเมาแล้วขับ รวมไปถึงมีการจัดเสวนา “ฉลองสงกรานต์อย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ” โดยมีเหยื่อเมาแล้วขับมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เนื่องจากสถิติอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ 2564 พบว่าสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ไม่สวมหมวกกันน็อก และการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้ทางสามารถติดตามการจราจร แจ้งเหตุ และติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริการสายด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดังนี้ ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356  กรมการขนส่งทางบก 1584 กรมทางหลวง 1586 กรมทางหลวงชนบท 1146 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1543 และกรมเจ้าท่า 1199

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลพร้อมดูแลช่วงปีใหม่มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง

'ศศิกานต์' ย้ำรัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนช่วงปีใหม่ 2568 มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง คาดปริมาณการจราจรเข้า - ออกกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาล 17.37 ล้านคัน

’เจือ ราชสีห์‘ ลุยต่อ! ยื่นหนังสือเร่งโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

ที่กระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่าง อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา