‘เอดีบี’ หั่นจีดีพีไทยปี 65 เหลือ 3% โอมิครอน-สงครามทุบศก.ไม่พัก

“เอดีบี” ลุยหั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2565 เหลือ 3% ชี้เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงขาลง โอมิครอน-สงคราม ยังตามทุบเศรษฐกิจไม่เลิก พ่วงปัญหาค่าครองชีพ-ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกดดันต่อเนื่อง พร้อมประเมินเงินเฟ้อไทยทั้งปีแตะระดับ 3.3% ส่งออกโต 6.1% ลุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้าประเทศ 5 ล้านคน ปี 2566 พุ่งเป็น 12 ล้านคน

6 เม.ย. 2565 – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4.5% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของปี 2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้

ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงขาลง ทั้งจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายพันธุ์ใหม่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศไทย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% ก่อนจะลดลงในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.2% หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ เอดีบีได้คาดการณ์ภาพรวมการส่งออกและบริการของไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ระดับ 6.1% และในปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9.4% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาด้านอุปทานที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในปี 2566 ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น คาดว่าจะกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ผลิตในไทย อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่อาจจะยังเผชิญปัญหาด้านอุปทาน การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังประเทศไทยกลับมาดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และคาดว่าประเทศไทยจะยังคงดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอ่างต่อเนื่องในปีนี้

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวนั้น ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาการของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นสัญญาณที่ดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับว่าทางการจะมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกหรือไม่ ส่วนปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวระยะยาว โดยเฉพาะจากยุโรปอาจเดินทางมายังไทยลดลงจากการเปลี่ยนเส้นทางการบินของสายการบินต่าง ๆ และราคาค่าโดยสารที่ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย จะอยู่ที่ 5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนในปี 2566 แต่ก็ยังต่ำกว่า 40 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19” เอดีบี ระบุ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะชะลงลงในครึ่งแรกของปีนี้ จากการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะลดกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งปี 2565 ขณะที่มาตรการด้านการคลังนั้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จะช่วยลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืน การลดค่าโอนและจดจำนองในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยประเมินว่าในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 3.3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% และปี 2566 ที่ 2.1%

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป อาทิ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางแย่ลงเช่นกัน

ในส่วนของการบริโภคภาครัฐ ปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 0.4% เนื่องจากกรอบงบประมาณปี 2565 ที่ลดลงในหลายกระทรวง ซึ่งสะท้อนความจำเป็นของการใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ลดลง จากนั้นคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 0.6% ในปี 2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจไทยกระทบหนัก ‘สภาพัฒน์’ หั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 3%

‘สภาพัฒน์’ เปิดตัวเลข จีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% ปรับทั้งปีลดลงเหลือ 2.5 - 3.5% จากความไม่แน่นอนสถานการณ์โลก ชี้ส่งออก-ท่องเที่ยวช่วยพยุงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จับตาความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ทำเศรษฐกิจกระทบทั่วโลก