สงครามรัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษ “เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปี 2565 เหลือโต 2.9% จากคาดการณ์เดิม 3.9% ชี้ราคาน้ำมันทะยานกระทบต้นทุน-การบริโภคเอกชนอ่วม แนะรัฐเดินหน้ามาตรการเยียวยาโควิด-19 แบบเฉพาะเจาะจง เน้นกลุ่มเปราะบาง หลังพื้นที่การคลังแคบลง ชงปฏิรูปจัดเก็บรายได้ ปูพรมภาคการคลังยั่งยืน ชมเปาะ “คนละครึ่ง” สุดเวิร์ค
6 เมษายน 2565 – นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 ลดลงเหลือ 2.9% ถือว่าปรับลดลงค่อนข้างมากจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการนำเข้าพลังงานถึง 4.5% ของจีดีพี
“ผลกระทบดังกล่าว จะส่งผ่านมาทางด้านราคาพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคเอกชนด้วย โดยราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยมีได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง” นางเบอร์กิท กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นนั้น มีปัจจัยบวกมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเวิลด์แบงก์ประเมินว่า ในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ราว6.2 ล้านคน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน หนุนการบริโภคในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญกับไทยเริ่มอ่อนแอลง ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ภาพของจีดีพีไทยลงไปอยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือเป็นกรณีต่ำ โดยการคาดการณ์นี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบให้เกิดช็อกในตลาดการเงินและมาตรการทางการคลังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐาน ซึ่งเวิลด์แบงก์ประเมินว่า การใช้นโยบายการคลังจะหนุนการบริโภคในประเทศขึ้นมาได้ ถ้าแรงส่งนี้ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด
ด้านนโยบายการเงินนั้น ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่0.5% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตอ่อนแอ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาส 4/2564 ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 40%
นอกจากนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น ยังมีแรงกดดันจากsupply site หรือทางด้านอุปทาน จากราคาพลังงาน โดยประเมินว่าราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพราะอาจจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมองว่าแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานมีอยู่จำกัด เนื่องจาก เศรษฐกิจยังคงอยู่ในการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่ำ
นางเบอร์กิท กล่าวอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความเปราะบาง และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ ดังนั้นมาตรการเยียวยาผลกระทบของภาครัฐยังมีความจำเป็น แต่ควรเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบสูง และแม้ว่าภาครัฐจะยังมีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้ แต่พื้นที่ก็แคบลง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ราว 60% ของจีดีพี จากเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพี ดังนั้นนอกจากการดำเนินมาตรการด้านการเยียวยาแล้ว ควรจะมีการปฏิรูปด้านการจัดเก็บรายได้ในอนาคตไปพร้อมกันด้วย เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง
“นโยบายการคลังที่ดำเนินการอยู่เป็นนโยบายที่ตรงจุด และเหมาะสมที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น โครงการคนละครึ่ง ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบมากมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานเกือบ 50%ของรายได้ ดังนั้น นโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมาถือว่าเป็นนโยบายลดภาระการใช้จ่ายได้ ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มองว่า ควรดำเนินนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม และถือว่ามีความจำเป็น เพราะระดับหนี้ยังสูง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19ทำให้ภาระการกู้ยืมเพิ่ม โดยเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ออกมาน่าจะช่วยได้ แต่ในภาพการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาถือว่า ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว และจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในประเทศระยะยาว” นางเบอร์กิท กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน