“ธปท.” ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 1/65 ยังฟื้นตัว แต่แผ่วกว่าไตรมาสก่อน เซ่นพิษโอมิครอนปะทุ มองไตรมาส 2/65 ยังไปได้ อานิสงส์เทศกาลสงกรานต์หนุน พร้อมจับตาสถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาพลังงาน
1 เม.ย. 2565 – น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 2565 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในหลายหมวด เช่น หมวดที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผลผลิตในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดให้ลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดโควิดสายพันธุ์ โอมิครอนในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายของครัวเรือน
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยลดลงจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ หมวดปิโตรเลียม และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด
มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งนำเข้าตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ขณะที่การนำเข้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ลดลงบ้าง ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้งในเดือน ก.พ.
“ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาจากทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศเศรษฐกิจมีพื้นฐานดี ส่วนต่างประเทศ มาจากปัญหาของรัสเซีย-ยูเครน และความกังวลต่อสถานการณ์บางช่วง ถ้าเทียบความผันผวนกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินบาทก็ไม่ได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เกาะกลุ่มกันไป ไม่ได้ผันผวนมากเป็นพิเศษ ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ” นางสาวชญาวดี กล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมยังฟื้นตัวได้ แต่ไม่ได้หวือหวาเมื่อเทียบไตรมาส 4/2564 ที่ฟื้นตัวดี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ปัจจัยต่าง ๆ ยังอยู่ในช่วงคาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในสัญญาณไตรมาส 2/2565 คาดว่าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยบวกจากช่วงเทศกาลสงกรานต์
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ความเชื่อมั่นนักลงทุน ก็ส่งผลต่อราคาพลังงาน การเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนและราคาสินค้า ต้องติดตามการส่งผ่านอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่ได้เห็นการกระจายตัวเป็นวงกว้าง
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า จากที่ได้เดินสายพูดคุยกับภาคธุรกิจในเดือนมี.ค. พบว่าการดำเนินธุรกิจโดยรวมทรงตัว บางภาคได้รับผลกระทบบ้าง หลัก ๆ ได้รับแรงกดดันจากโควิดโอมิครอน และต้นทุนการผลิตที่สูง ด้านภาคการผลิตดีขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าได้ ส่วนโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การค้าแย่ลง อุปโภคบริโภค ชะลอบริโภคสินค้า เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การลงทุนยังไม่ฟื้นตัว เพราะราคาวัสดุก่อสร้างสูง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.อยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว กิจกรรมเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันโควิด จากราคาพลังงานสูง โดยธปท.จะติดตามการระบาดโควิด การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า และผลของความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนในเรื่องของการคว่ำบาตร ส่วนเงินบาทที่ผันผวนมาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่า ทั้งความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ราคาทองสูงมีแรงขายบ้างทำให้เงินบาทในไทยผันผวน แต่ถ้าเทียบความผันผวนประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น และไม่ได้ผันผวนผิดปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรียก 'OPPO-Realme' สอบเพิ่มที่ทำเนียบฯ ถึงเวลากำหนดมาตรการลงแอปในโทรศัพท์
'จิราพร' เรียก 'OPPO-Realme' สอบเพิ่มที่ทำเนียบฯ พร้อมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาช่องทางดำเนินคดี ยัน สคบ.พร้อมดูแลผู้เสียหาย เผย มีแจ้งมาแล้ว 9 ราย 'ประเสริฐ' ลั่นถึงเวลากำหนดมาตรการลงแอปในโทรศัพท์ ถาม ธปท.แล้ว แอปฯความสุขยังไม่ได้ขออนุญาตปล่อยเงินกู้