EIC คาด 'กนง.' คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปีนี้

EIC มอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวมาจากปัจจัยอุปทานเป็นสำคัญ และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบนโยบายในปีหน้า

31 มี.ค. 2565 – หลังจากที่ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2022 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2023 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ทั้งนี้คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

ล่าสุด EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้วิเคราะห์ทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศไทยว่า EIC คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจาก

1) กนง. มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2022 ลงเหลือ 2.7% จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิม จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจชะลอการเดินทางจากภาวะเงินเฟ้อและการบริโภคที่จะได้รับผลกระทบ

2) อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุปทาน ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังอ่อนแอ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย และ 3) ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต

ขณะที่ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 89.3% โดยยังสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ EIC คาดว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัว 3-5% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2022 จะปรับลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยอาจอยู่ในช่วง 88%-90%

กดอ่านเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คารม' แจงยิบยัน 'กยศ.' คิดดอกเบี้ยอัตรา 1%

'คารม' ย้ำ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาคิดดอกเบี้ยอัตรา 1% ตั้งแต่เริ่มกู้จนชำระเสร็จสิ้น ไม่มีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตามจำนวนที่แจ้งในหน้าแอปพลิเคชัน กยศ.Connect