15 มีนาคม 2565 -ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ดันราคาข้าวสาลีพุ่งสูงสุดในรอบหลายปี โดยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ.2565 และมีแนวโน้มอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกให้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวสาลีที่มีอัตราการขยายตัวของราคาพุ่งสูงอย่างมากสอดคล้องไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งบทบาทของรัสเซียและยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งรวมครองสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีราวร้อยละ 28.5 ของปริมาณการส่งออกข้าวสาลีโลก จึงมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ผลกระทบของราคาข้าวสาลีโลกที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลต่อไทย ในแง่ต้นทุนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอย่างอาหารคน (อาหารแปรรูป/อาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูป) และอาหารสัตว์ ให้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาอุปทานขาดแคลน และการแย่งซื้อข้าวสาลีจากแหล่งอื่น ยิ่งดันราคาให้สูงขึ้น โดยพบว่า ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนถึงร้อยละ 13.1 ของการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมดของไทย (ไทยไม่ได้มีการนำเข้าแป้งสาลีจากทั้งรัสเซียและยูเครน) ในภาวะที่อุปทานข้าวสาลีในยูเครนตึงตัวและมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากท่าเรือทะเลดำที่จะได้รับผลกระทบจากสงคราม อันจะทำให้ไทยต้องประสบภาวะอุปทานขาดแคลน (ไทยจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีเพราะไทยผลิตเองได้น้อยมาก) และทำให้เกิดปัญหา Supply Disruption ในกรณีที่หากไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอื่นได้ หรือหากไทยสามารถจัดหานำเข้าจากประเทศอื่นได้ เช่น ออสเตรเลีย แต่ก็คงต้องเผชิญราคานำเข้าที่สูงเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการแย่งชิงวัตถุดิบกันในตลาดโลกในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็อยู่ในระดับสูง ท้ายที่สุด จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารปลายน้ำมีราคาสูงขึ้นและกระทบต่อผู้บริโภค สะท้อนได้จาก ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ขยายตัวร้อยละ 3.45 ดังนั้น จากราคาข้าวสาลีที่สูงขึ้น นับเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ต้องเผชิญในปี 2565 ทั้งในแง่ของความเสี่ยงด้านการจัดหาอุปทาน ต้นทุนราคาวัตถุดิบและต้นทุนโลจิสติกส์ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงระยะเวลาราว 6 เดือนจากนี้ (มี.ค.-ก.ย.) ราคาข้าวสาลีนำเข้าน่าจะยืนในระดับสูง เนื่องด้วยปัญหาขาดแคลนอุปทานข้าวสาลีจากผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนเกิดการแย่งกันซื้อ และผลผลิตข้าวโพดไทยรอบใหม่ยังไม่ออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอาหารคนและอาหารสัตว์ให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรืออาจต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่สายการผลิต จะยิ่งเป็นการผนวกซ้ำเติมกับปัญหาต้นทุนค่าขนส่งให้สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ได้มีการปรับขึ้นค่าระวางเรือไปแล้ว 2-3 เท่า นอกจากนี้ ยังดันให้ราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- อุตสาหกรรมอาหารคน อาจต้องเผชิญการขาดแคลนวัตถุดิบ/ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ซึ่งอาจใช้สินค้าพืชเกษตรอื่นเพื่อทดแทนข้าวสาลีได้ยาก เพราะเป็นไปตามสูตรการผลิตในสินค้าแต่ละรายการของผู้ประกอบการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และแม้จะมีการนำเข้าแป้งสาลีได้บางส่วนเพื่อมาบรรเทาผลกระทบของการขาดแคลนอุปทาน แต่ผู้ประกอบการคงต้องเผชิญกับราคาแป้งสาลีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน
- อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ คงต้องเผชิญการขาดแคลนวัตถุดิบ/ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูง เนื่องจากผลผลิตข้าวสาลีในตลาดโลกที่ตึงตัว รวมถึงพืชเกษตรทดแทนอื่นอย่างมันสำปะหลัง/ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็มีปริมาณผลผลิตน้อยตามฤดูกาลและยังต้องไปแย่งชิงมันสำปะหลังมาจากในภาคส่วนการผลิตพลังงานทดแทนด้วย จึงทำให้ผู้ประกอบการน่าจะต้องเผชิญความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท้ายที่สุด ผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาข้าวสาลีให้พุ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาอาหารปลายทางที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้สูงขึ้นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ ตามราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ขนมปัง ตามราคาข้าวสาลีและราคาธัญพืชทดแทนที่สูงขึ้น เป็นต้น จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคในภาวะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เปราะบางอยู่แล้ว
จากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 อุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ อาจให้ภาพปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่คลี่คลายมากขึ้น (แม้ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงมีอยู่) เนื่องจากผลผลิตของพืชทดแทนอย่างข้าวโพดของไทยที่จะมีผลผลิตรอบใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก คิดเป็นราวร้อยละ 72.5 ของผลผลิตข้าวโพดทั้งปี อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการปลายน้ำมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่สายการผลิตได้อย่างเพียงพอมากขึ้นและทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงได้ ท้ายที่สุด การที่มีอุปทานข้าวโพดเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในภาวะที่อุปทานข้าวสาลียังคงมีความไม่แน่นอนสูง จึงน่าจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้ทยอยปรับตัวลดลงได้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประธานาธิบดีปูตินขู่เอาคืนยูเครน หลังเหตุโจมตีในคาซาน
หลังจากโดรนโจมตีเมืองคาซาน ทางตอนกลางของรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินขู่จะตอบโต้ ในเบื้องต้นยูเครนยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโจมตีดั
'ว้าแดง' ออกแถลงการณ์ด่วน ปัดข่าวเตรียมทำสงครามกับกองทัพไทย
“ว้าแดง” ออกหนังสือแถลงการณ์ ยันไม่มีความตึงเครียดระหว่าไทย-ว้าแดง วอนชาวเน็ตกับตาดูและอย่าเชื่อข่าวลือนำไปเผยแพร่