ส.อ.ท.โอดสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคาพลังงานสูง กระทบหนักต้นทุนการผลิต เผยดัชนีเชื่อมั่นเอกชนงวดก.พ. ลดลงในรอบ 6 เดือน แนะรัฐตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร พร้อมยกเลิก Test & Go ดึงนักท่องเที่ยวยุโปรฟื้นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสหพันธ์การขนส่งจี้รัฐยังดูแลราคาน้ำมันไม่สุดทาง
11 มี.ค. 2565 -นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤติรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการตอบโต้ของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ส.อ.ท.กำลังติดตามใกล้ชิดและกังวลมาก เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากระดับราคาพลังงาน ดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องดูแลราคาพลังงานที่จะไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยเห็นว่าควรจะตรึงราคาดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดใหม่(พ.ค.-ส.ค.65) รวมถึงราคาแอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม) เพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน
“สถานการณ์นี้เหมือนช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญซึ่งไทยคือหญ้าแพรก ซึ่งทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากน้ำมันที่สูง และไทยเราเป็นประเทศผู้นำเข้าและเวลานี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจที่เงินเฟ้อเราสูงอย่างมาก ขณะที่รายได้ไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อที่จะทำให้บั่นทอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ”นายสุพันธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์วิกฤติยูเครน-รัสเซียนั้นภาครัฐควรมองเป็นโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป(อียู) ที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวและยังเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นมาท่องเที่ยวในไทยโดยควรพิจารณายกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทยซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 5-6 ล้านคนได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาเร่งดึงการลงทุนเข้าไทยเพื่อให้เกิดการย้ายฐาน
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ได้สำรวจความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ1,242 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประจำเดือนก.พ. 2565 พบว่า ลดเหลือระดับ 86.7 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากมีความกังวลปัจจัยต่อปัจจัยด้านราคาน้ำมันถึง 75.2% สถานการณ์ระบาดของโควิด 68.5% เศรษฐกิจในประเทศ 56.8% สภาวะเศรษฐกิจโลก 52.3% อัตราแลกเปลี่ยน 48.3% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 45.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.6% อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคาดหวังว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยความเชื่อมั่นเพิ่มเป็น 97.1 เพราะมองว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานส.อ.ท.และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจความเห็นต่อผลกระทบความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จาก 26 กลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อ 7 มี.ค.ว่าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ค่าระวางเรือ และวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้นเช่น นิกเกิล ข้าวสาลี ข้าวโพด ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตภาพรวมเพิ่มสูง ดังนั้นคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์ใหม่)มีแนวโน้มต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงเกือบทั้งหมด
“ส.อ.ท.ได้ขอให้สมาชิกช่วยตรึงราคาสินค้าแต่ยอมรับว่าสต็อกเก่าที่มีอยู่เริ่มร่อยหรอลงซึ่งแต่ละรายต้นทุนและสต็อกก็ต่างกันไป ภาพรวมในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าราคาสินค้าคงจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย ที่คาดว่าจะปรับขึ้นในอีก 1-2 เดือนนี้หลังจากรัสเซียห้ามส่งออกปุ๋ย ดังนั้นเห็นว่าหากน้ำมันดิบตลาดโลกขึ้นสูงภาครัฐอาจลดภาษีสรรพสามิตที่เหลือ 3.20 บาทต่อลิตรก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง”นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตามส.อ.ท.ยังคงกังวลหากมีการปิดท่อก๊าซฯที่จะส่งไปยังอียูซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในเยอรมันที่มีการผลิตอุตสาหกรรมหนักจำนวนมากที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการคว่ำบารตที่จะทำให้แร่ธาตุต่างๆในการผลิตที่มาจากรัสเซียและยูเครนเกิดชะงักวัน เหล่านี้อาจกลายเป็นโดมิโน่ซัพพลายเชน รวมไปถึงระดับราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนระดับสูงดังนั้นหากภาครัฐตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรต่อไปก็จะเป็นสิ่งที่ดี
“ น้ำมันขึ้นทุก 1 เหรียญฯจะมีผลต่อราคาขายปลีกไทยขึ้น 25 สตางค์ต่อลิตรแต่ต้นทุนการผลิตยังมีอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนฯ ก่อนหน้านี้รัฐได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงไป 3 บาทต่อลิตรยังคงเหลือเก็บอยู่ราว 2.99 บาทต่อลิตรจุดนี้อาจนำมาดูแลได้ แต่ก็เข้าใจว่าถ้าน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มมีการพูดกันไปถึงระดับ 300 เหรียญฯต่อบาร์เรลเกิดขึ้นจริงการตรึงไว้ระดับเดิมก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน”นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มรถบรรทุกที่เป็นสมาชิกเครือข่ายยังคงไม่พิจารณาปรับขึ้นค่าส่งจากเดิมที่เตรียมจะปรับอีก 15-20% ในช่วงก.พ.เนื่องจากระดับราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อประชาชนจึงไม่ต้องการซ้ำเติมโดยจะขอติดตามสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกใกล้ชิดหากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสงบลงและน้ำมันกลับไปสู่ภาวะปกติจึงจะกลับมาพิจารณาภาพรวมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการดูแลราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรหากรัฐบาลจะพิจารณาขยับเพดานการตรึงให้สูงขึ้นอีกไม่เห็นด้วยเพราะมองว่ารัฐยังคงดำเนินนโยบายช่วยเหลือแบบไม่สุดทางเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลไปก่อนหน้านั้น 3 บาทต่อลิตรยังคงเหลืออีก 3.20 บาทต่อลิตรที่ยังลดลงได้อีกเพราะรัฐเองยังลดภาษีน้ำมันเครื่องบินให้เหลือ 0.20 บาทต่อลิตรได้เลยขณะเดียวกันควรพิจารณาถอดการผสมไบโอดีเซล(B100)ในดีเซลที่ปัจจุบันเป็นเกรดเดียวคือ ดีเซลB5 (ผสม5%) ให้เหลือศูนย์ชั่วคราว รวมไปถึงการลดหรือถอดเอทานอลที่ผสมในเบนซินด้วยเพื่อช่วยลดผลกระทบกลุ่มเบนซินที่ราคาขายปลีกปรับขึ้นจนกระทบค่าครองชีพประชาชน
“ ผมคิดว่ารัฐบาลควรใช้กลไกเครื่องมือต่างๆ ไปดูแลให้ดีก่อน อย่างราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ครัวเรือนที่อุ้มอยุ่ถึงกิโลกรัมละ 18.17 บาทนั้นเป็นการอุ้มภาคอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่เพราะหลายอุตสาหกรรมเองก็หันมาใช้มากแล้วเขาสะท้อนต้นทุนไปยังราคาสินค้าได้เวลาน้ำมันลงเขาลดราคาสินค้าหรือไม่ หากรัฐทำจนสุดทางแล้วถ้าจะลอยตัวดีเซลเลยผมก็จะไม่ว่าอะไร”นายภิชาติกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"