'บิ๊กตู่' เผย ถก 'กพช.'บ่ายนี้วาระเร่งด่วน กำหนดมาตรการด้านพลังงาน พร้อมเร่งรัดมีผลบังคับใช้ หวังลดค่าครองชีพประชาชน
09 มี.ค.2565 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก“ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเงินฝืด และความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อค่าครองชีพของเราชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็สามารถกระตุ้นกำลังซื้อและเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามวิกฤตต่างๆ ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของราคาพลังงานโลก ซึ่งในวันที่ 9 มี.ค. จะมีการประชุม “วาระเร่งด่วน” ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน และเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนโดยเร็วต่อไป
สำหรับมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น 1. โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด “Hydro Floating Solar Hybrid System” ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ลักษณะสำคัญคือเป็น ทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ รวมทั้งช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายกระแสไฟตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลายเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริดนี้ในเขื่อนอื่นๆทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้กับประชาคมโลก และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย
2.การขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น นโยบาย 30@30 ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ออก มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) เงินอุดหนุน : รถยนต์/รถกระบะไฟฟ้า 70,000 - 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท/คัน (2) ลดภาษีสรรพสามิต : รถยนต์ไฟฟ้าเหลือ2% และรถกระบะไฟฟ้าเหลือ 0% (3) มาตรการอื่นๆ : ลดอากรนำเข้า สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรเป็นต้น
“ผมตระหนักดีว่า ปัญหาด้านพลังงานเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ที่มีผลกระทบกับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะต้นทุนและเศรษฐกิจในการดำเนินชีวิตของพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผมมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเรายังต้องอาศัยการนำเข้าเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีแผนการรองรับไว้เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนทางพลังงานลดการพึ่งพา เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย ทั้งวันนี้และวันหน้า ซึ่งหากผลการประชุมของ กพช. เป็นอย่างไร จะสามารถช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง ผมจะได้มารายงานให้ทราบต่อไปครับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กพช. สั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,668 เมกะวัตต์
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน