วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมฯ คืออีก 1 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องเดินเข้าเรือนจำ จากผลพวงการบริหาราชการแผ่นดินที่ทุจริตคอร์รัปชัน ตามหลังอดีตรัฐมนตรี-อดีตนักการเมืองใน ระบอบทักษิณ หลายคนก่อนหน้านี้ในยุครัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนศาลยุติธรรมพิพากษาจำคุก ทั้งคดีทุจริตฯ และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ เช่น คดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2552-2553 ของเสื้อแดง นปช. ซึ่งบางคนศาลก็ให้รอลงอาญา ขณะที่บางคนหนีคดีไปต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้
พบว่า อดีตรัฐมนตรี-นักการเมือง รวมถึงผู้บริหารองค์กรของรัฐในยุครัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก เพราะมีความผิดฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงคดีอาญาต่างๆ ที่เป็นคดีการเมือง ที่ถูกศาลตัดสินก่อนหน้า คดีวัฒนา เมืองสุข มีด้วยกันหลายคน อาทิ ชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีต รมว.เกษตรฯ ยุครัฐบาลทักษิณ และ วิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ และอดีต ส.ส.สระแก้ว ไทยรักไทย ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินจำคุกเมื่อ 8 มิ.ย.2559 ในคดีทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทั้ง 2 คนถูกตัดสินจำคุกคนละ 6 ปี
-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ถูกศาลฎีกาฯ มีคำตัดสินเมื่อ 25 ส.ค.2559 สั่งจำคุกในคดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ บริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ตระกูลชินวัตรเคยถือหุ้นใหญ่ โดยถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา และปัจจุบันหมอเลี้ยบ เป็น ผอ.พรรคเพื่อไทย
-ประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อเรือ-รถดับเพลิง กรุงเทพมหานคร โดยถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยศาลฎีกาอ่านคำตัดสินเมื่อ 11 ก.ย.2556 ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 12 ปี แต่ประชา หนีคดีไปต่างประเทศก่อนหน้านั้นจนถึงปัจจุบัน
-วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในรัฐบาลทักษิณ ที่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในคดีหวยบนดิน ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด แต่ก็เห็นว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี
-อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ ธ.กรุงไทย ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ โดยศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกอดีตผู้บริหารกรุงไทย เช่น วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ที่ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 18 ปี ซึ่งคดีปล่อยกู้กรุงไทย ต่อมาดีเอสไอและอัยการ สอบสวนขยายผลหลังศาลฎีกาฯ ตัดสิน จนมีการสอบสวนเอาผิด พานทองแท้ ชินวัตร และฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่ศาลยกฟ้อง ปรากฏว่าต่อมาอัยการสูงสุดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว ทำให้พานทองแท้พ้นจากคดีปล่อยกู้กรุงไทยท่ามกลางข้อสงสัยของสังคมที่กังขาการไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว
ขณะที่ในยุครัฐบาล เพื่อไทย-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดดังกล่าวที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดหลายคนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากคดี ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาเมื่อ 25 ส.ค.2560 ตัดสินจำคุก 2 อดีตรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นเวลา 36 ปี และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ โดนไป 42 ปี
-ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.มหาดไทย ที่ถูกฟ้องเอาผิดกรณีสมัยเป็นรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยเซ็นคำสั่งราชการเกี่ยวกับเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์ ที่เป็นของตระกูลชินวัตร เมื่อปี 2546 จนต่อมาได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นปลัดฯ มหาดไทยก่อนเกษียณไม่กี่วัน และต่อมาเมื่อ ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดย้อนหลังนายยงยุทธเรื่องอัลไพน์ และฟ้องคดีต่อศาล ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งแม้ยงยุทธได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา จึงทำให้ถูกคุมตัวไปเข้าคุก เมื่อ 17 ก.พ.2563
นอกจากนี้ก็ยังมี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.การต่างประเทศ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คืนหนังสือเดินทางพาสปอร์ตแดงให้ ทักษิณ ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี อันเป็นการทำผิดต่อระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นช่วงปี 2561 ศาลฎีกาตัดสินจำคุกนายสุรพงษ์เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาสุรพงษ์ยื่นอุทธรณ์ขอให้มีการรอลงโทษ ศาลเมตตาจึงให้รอลงอาญา 2 ปี และต่อมา 20 พ.ค.2563 นายสุรพงษ์ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการสงบในวัย 67 ปี
-นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง ที่ถูกฟ้องเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากกรณีสมัยรับราชการอยู่กรมสรรพากร ได้ร่วมกับพวกช่วยเหลือพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549 ที่ทั้ง 2 คนต้องเสียภาษีในส่วนของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท โดยคดีดังกล่าวมีการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และคดีสิ้นสุดเมื่อ 27 ธ.ค.2562 ที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีนักการเมืองอีกหลายคน ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก เพราะเคลื่อนไหว-ทำงานการเมือง หรือทำงานให้กับคนในพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร เช่น เกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย ที่ถูก ป.ป.ช.ฟ้องเอาผิดในคดีร่ำรวยผิดปกติ โดยเป็นที่รู้กันในพรรคเพื่อไทยและในทางการเมืองว่า นายเกษมเป็นคนสนิทของ เจ๊-คนดัง ของเพื่อไทย บ้างก็ว่าเคยเป็นคนขับรถ-ถือกระเป๋าให้เจ๊คนดังมาก่อน จนถูกส่งไปลงเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ ปี 2555 แทนนางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ และต่อมาศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายเกษม 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เพราะศาลเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีนั้นเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์อีก 21 ล้าน
ส่วนอดีตรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ตอนนี้มีชนักติดหลัง มีคดีความถูก ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิด และเตรียมยื่นเรื่องส่งฟ้องต่อศาล ก็มีหลายคน อาทิ กิตติรัตน์ ณ ระนอง-อดีตรองนายกฯ-รมว.พาณิชย์" ถูกสอบสวนเอาผิดในคดีถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า ขายข้าว BULOG อินโดนีเซีย 3 แสนตัน จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย-อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กรณีสมัยเป็น รมว.มหาดไทย ได้รับทรัพย์สินอันไม่ควรได้ตามกฎหมาย กรณีการเดินทางไปต่างประเทศ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในคดีทำโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ซึ่งคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ฟ้องเอาผิด สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์) ด้วย เป็นต้น
ส่วนหลังจากนี้ จะมีนักการเมืองในเครือข่ายระบอบทักษิณคนไหนอีกบ้างที่ต้องประสบชะตากรรมแบบรายชื่อข้างต้น ต้องรอดู แต่หลายคนดูจะเชื่อกันว่า "เสี่ยไก่-วัฒนา เมืองสุข" อาจไม่ใช่คนสุดท้าย!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.