ปัจจัยภายนอกภายในรุมเร้า ท้าทายฝีมือประยุทธ์อยู่หรือไป?

เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ สถานการณ์สู้รบระหว่าง รัสเซียกับยูเครน เพิ่มความตึงเครียด สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานไปในทิศทางเดียวกัน กองกำลังรัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้าซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง สร้างความกังวลทั้งปมประเด็นกังวลค่ากัมมันตรังสีรั่วไหล หรือเลวร้ายที่สุดเกิดระเบิดขึ้นมาจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์เชอร์โนบิล 10 เท่า เป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกไม่อยากให้เกิดขึ้น แม้ในเวลาต่อมาจะมีการออกแถลงการณ์ตามมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังอยู่ในระดับปลอดภัย  

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความหวั่นวิตกอย่างยิ่ง และก็ไม่รู้ในวันข้างหน้าจะมีเหตุอะไรให้ชวนน่าขนลุกอีกหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงมายังประเทศไทยคือ พลังงาน เห็นได้จากราคาน้ำมันที่ขยับปรับราคาขึ้นมาหลายรอบ และยังไม่มีทีท่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ จนกว่าเหตุการณ์ความตึงเครียดทั้ง 2 ประเทศจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี 

เรื่องความไม่สงบของ 2 ประเทศยังคงต้องว่ากันอีกยาว ประเทศไทยภายใต้การนำของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากท่าทีของไทยแสดงออกผ่านการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มีประเทศสมาชิก ไทย 1 ใน 141 ประเทศ ที่ลงคะแนนเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันทีไปแล้ว 

อีกสิ่งหนึ่ง รัฐบาลไทยต้องวางแผนรับมือให้ดี ราคาน้ำมันที่ขยับปรับตัวขึ้นสูงจะส่งผลกระทบหลายอย่างตามมา หากรัฐบาลเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันหลักของภาคการขนส่ง ผู้ประกอบการเดินรถสาธารณะ รถบรรทุก จะทำอย่างไรต่อไป เพื่อจำกัดวงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ให้ราคาต้นทุนสินค้า ภาคบริการอื่นๆ ต้องปรับตัวขึ้นไป ที่ปลายทางคนที่รับภาระเต็มๆ คือประชาชนนั่นเอง 

เรื่องต่างประเทศยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่ผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตามแก้ไขอีกมาก การแพร่ระบาดไวรัสโควิด ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน ติดต่อกันมาหลายวัน ความกังวลต่อเวชภัณฑ์ต่างๆ สถานที่พักรักษาตัว โรงพยาบาล ยารักษา ตลอดจนสิทธิในการรักษา ยังเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังสวมหมวกผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แม้ภาพรวมทุกวันนี้ผู้คนจะไม่ค่อยตื่นตระหนก เรียนรู้และเข้าใจในการอยู่กับโรคโควิดได้มากขึ้น แต่ยังประมาทไม่ได้ ภาคประชาชนตั้งการ์ดสูง ป้องกันตัวเอง ไม่พาตัวเองไปอยู่จุดสุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาด  

มาตรการของภาครัฐต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน คนทำมาหากิน ต่างไม่มีใครอยากเห็นภาพล็อกดาวน์อีกแล้ว  

สถานการณ์การเมือง รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม รัฐนาวาประยุทธ์จะลากยาวอยู่ครบเทอมหรือไม่ ปัญหาสภาล่ม ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มบ้านใหญ่ในชลบุรี ที่ต่างฝ่ายต่างมีส่วนร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ปัญหากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หอบหิ้ว ส.ส.ออกจากพรรค 18 คน ไปสร้างเส้นทางใหม่ทางการเมืองในนามพรรคเศรษฐกิจไทย ที่พกความคับแค้นใจออกไปด้วย พร้อมจะจับมือร่วมมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านสั่งสอนรัฐบาลประยุทธ์ได้ทุกเมื่อ และคงจะรอโอกาสแผลงฤทธิ์  

ว่ากันว่า นับจากเปิดสมัยประชุมสภาสมัยหน้า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์จะเผชิญเรื่องสำคัญที่มีผลต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2-3 เหตุการณ์สำคัญเป็นอย่างน้อย 

1.สมัยประชุมหน้า พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างแน่นอน ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งในตอนตัดสินยังต้องอาศัยจำนวนมือจาก ส.ส.ในสภาว่าจะมีเสียงถึงกึ่งหนึ่ง เอาตัวรอดจากการปล้นอำนาจกลางสภาไปได้หรือไม่ 

ถึงแม้ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้ความมั่นใจเสียงของรัฐบาลที่เป็นการรวบรวมเสียงของฝ่ายรัฐบาลเอง งูเห่าจากฝ่ายค้าน โดยไม่นับรวมกลุ่มธรรมนัสที่แยกตัวออกไป มีถึง 260 เสียง พร้อมสนับสนุนนายกรัฐมนตรี 

ทว่าอีกมุมมอง ถูกมองว่าเป็นการยกตัวเลขมาเพื่อหวังขู่ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ แต่ต้องแลกมาด้วยการต่อรองผลประโยชน์ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่บิ๊กตู่จะต้องฟังภูมิใจไทย ในฐานะผู้กุมเสียงส่วนใหญ่ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากภูมิใจไทยสนับสนุนรัฐนาวาประยุทธ์ก็ยังอยู่ได้ หากไม่สนับสนุนมีโอกาสกระเด็นตกเก้าอี้ได้เช่นกัน 

2.การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน พ.ร.บ.งบประมาณ ที่มองกันว่าหากกฎหมายการเงินไม่ผ่าน ความรับผิดชอบสุดท้ายจะมาตกอยู่ที่นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบ  

3.วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ที่ระบุนายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี โดยมุมมองฝ่ายค้านมองว่า วาระบิ๊กตู่ควรนับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 23 ส.ค.2557 ดังนั้นจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค.2565 หากถึงช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี  

คาดกันว่า กระบวนการตัดสินของศาลน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่ผลของคำวินิจฉัยชี้ขาดจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว  

ความเคลื่อนไหวฝ่ายค้านช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา งานในสภาปิดเทอมไปก่อนชั่วคราว ไม่มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญ ยื่นกระทู้ ยื่นญัตติ ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จี้ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ  

แม้จะปิดสมัยประชุม แต่ก็เป็นช่วงที่พรรคการเมืองได้ขยับทำกิจกรรมของพรรคตัวเองมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ปักหมุดเดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค. นำทัพโดย จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค พร้อมคณะแกนนำ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยกพลไปเปิดเวที สัมมนา วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง พร้อมกับรับฟังปัญหาชาวบ้าน เก็บข้อมูลมาเพื่อเตรียมนำมาทำเป็นนโยบายที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า   

พรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะยกคณะแกนนำพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย แท็กทีมเดินสายในโครงการ ผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน เดินสายไปแต่ละภูมิภาค เปิดเวทีรุกไล่รัฐบาลประยุทธ์อย่างคึกคัก เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม จัดขึ้นที่ “กรุงเทพมหานคร” ภายใต้ธีม ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : หมดเวลานายกฯ ก่อนประเทศหมดเวลา” 

จากนั้น วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 จัดขึ้นที่ จ.น่าน ภายใต้ธีม “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : บริหารล้มเหลวซ้ำซาก ประชาชนจน ประเทศเจ๊ง” วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565 จัดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ในหัวข้อ “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : รัฐบาลสั่นคลอน สภาล้มลุกคลุกคลาน” วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ จ.ชลบุรี หัวข้อ “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : รัฐธรรมนูญสู่ทางตัน การเมืองสู่วิกฤต” 

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เตรียมจัดกิจกรรม คาราวานครอบครัวพรรคเพื่อไทย เช่นกัน ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม โดยเลือกคิกออฟวันที่ 19 มี.ค. เลือกเอาเมืองหลวงคนเสื้อแดง จ.อุดรธานี เป็นที่แรก โดยกิจกรรมการเดินสายครั้งนี้เพื่อชักชวนให้ประชาชนสมัครบัตรครอบครัวพรรคเพื่อไทย ที่ว่ากันว่าบัตรนี้จะกลายเป็นของเล่นของเพื่อไทย ที่เตรียมจะนำมาต่อยอดเชิงนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า 

เป็นบัตรที่ผู้ครอบครองบัตรจะได้สิทธิพิเศษทางด้านร้านค้า การเข้าร่วมกิจกรรมหรือสิทธิพิเศษอื่นอีกมากมาย หากพรรคมีการจัดกิจกรรมขึ้น การจัดคาราวานครั้งนี้นอกจากคณะแกนนำ ส.ส. ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ยกคณะเดินสายไปพบประชาชน เช็กเรตติ้งความนิยม พร้อมกับปราศรัยจัดเวทีปลุกพลังรุกไล่รัฐบาลประยุทธ์แล้ว อาจจะได้เห็นหนึ่งในสามว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางร่วมทริปไปด้วย     

พรรคฝ่ายค้านเดินสายเช็กเรตติ้งเปิดเวทีถล่มรัฐบาลประยุทธ์ปูทางรองรับ หากเกิดความไม่คาดฝันทางการเมือง หรือแม้แต่พรรคการเมืองหน้าใหม่เตรียมจะเปิดตัวอีกอย่างน้อย 2-3 พรรค เช่น ไทยสร้างสรรค์ ของอดีตแกนนำในรัฐบาล พรรคของนคร มาฉิม ที่พร้อมเปิดตัวประกาศแนวทางต่อต้านเผด็จการอย่างเข้มข้น พร้อมประกาศเสนอเป็นอีกทางเลือก  

พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามเลือกตั้ง พรรคพลังชล เตรียมขยับทำกิจกรรม เตรียมความพร้อม รองรับสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่นับรวมพรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เริ่มทำกิจกรรมการเมืองมากขึ้น รองรับถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่พร้อมจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกเมื่อ              

ด้วยปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ภายนอกประเทศ เร่งเร้า ท้าทาย พิสูจน์ฝีมือในการแก้ไขปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปได้จนอยู่ครบเทอมในปี 2566 หรือเกิดสะดุดกลางคัน ต้องพังพาบลงในปี 2565 มีอันเป็นไปก่อนกำหนด ก็เป็นไปได้เหมือนกัน.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า