มันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ที่ประกาศิตของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะถูกท้าทาย
ที่ผ่านมาเกมการเมืองในสภา ‘บิ๊กป้อม’ ในฐานะกุมเสียง ส.ส.ของพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล คือคนกำหนดทิศทางเกมของรัฐบาลในสภาได้ ไม่ว่ากดปุ่มอะไรมักออกมาแบบนั้น
แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลัง ‘บิ๊กป้อม’ ส่งสัญญาณให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนสมาชิกวุฒิสภา ให้เลือก ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ....
ทว่าผลที่ออกมา กลับเป็นชื่อของ ‘เสี่ยตี๋’ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ส.ส.ระยอง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าวิน
มีรายงานว่า ‘บิ๊กป้อม’ หัวเสียเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเช้าได้ส่งสัญญาณดังๆ ผ่านการให้สัมภาษณ์ไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าให้เอา ‘ไพบูลย์’
ขณะที่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘บิ๊กป้อม’ ถึงกับสอบถามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่เป็นไปอย่างที่คุยกันไว้
เหตุการณ์ ‘ไพบูลย์ไม่มาตามนัด’ ตามประกาศิต ‘บิ๊กป้อม’ นั้น ปฐมเหตุมันเริ่มตั้งแต่กฎหมายลูก 2 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลนี้ ‘ไพบูลย์’ ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบมาตั้งแต่ต้น
แต่คนที่เป็นหัวเรือใหญ่นั่งยกร่างและพัฒนาร่างกันมาร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอดคือ ‘วิเชียร ชวลิต’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองประธานวิปรัฐบาล
แม้กระทั่งวันที่เสนอร่างเข้าสภา ก็ยังเป็นชื่อ ‘วิเชียร’ แต่ปรากฏหลังรับหลักการในวาระที่ 1 ‘ไพบูลย์’ ได้วิ่งเข้าไปหา ‘บิ๊กป้อม’ แสดงความปรารถนาที่จะนั่งเก้าอี้ตัวนี้
เรื่องดังกล่าวสร้างความหงุดหงิดให้กับวิปรัฐบาล รวมถึงคนในพรรคพลังประชารัฐเอง เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้ ‘ไพบูลย์’ มานั่งหัวโต๊ะ
เช่นเดียวกับคนในพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านเองที่รับไม่ได้กับชื่อนี้ เพราะเคยมีประสบการณ์นั่งร่วมห้องประชุม กมธ.มา 2 ชุดที่มี ‘ไพบูลย์’ เป็น กมธ. ไม่ว่าจะเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. และ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม)
โดยเฉพาะ กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ‘ไพบูลย์’ นั่งเป็นรองประธาน กมธ. ซึ่งมักชอบตัดบท โต้เถียงกับฝ่ายค้านอยู่เสมอ จนทำให้บรรยากาศการประชุมไม่ราบรื่น
เมื่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นพ้องว่าไม่เอาชื่อนี้ ‘ปฏิบัติการสุมหัวหักประกาศิตบิ๊กป้อม’ จึงเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การที่ ‘เกษม มีทิพย์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ไปทำกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยสักระยะหนึ่งแล้ว หยิบชื่อ ‘สาธิต’ ที่อยู่ในโควตา ครม.เช่นเดียวกับ ‘ไพบูลย์’ มาแข่ง
ส่วนฝ่ายค้านเอง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลก็เด้งรับลูก โดยพรรคเพื่อไทยไม่ส่งคนแข่งขัน ทั้งที่ปกติเวลาชิงเก้าอี้ในประธาน กมธ.ฝ่ายค้านต้องเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมแข่งกับรัฐบาล แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเกม กลับไม่เสนอชื่อ ประหนึ่งเปิดทางให้ ‘สาธิต’
เพราะพรรคเพื่อไทยนั้นรู้อยู่แล้วว่า เสนอไปก็สู้กับพรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภายาก เพราะเสียงน้อยกว่า จึงกระโจนร่วมกับแผนการสกัด ‘ไพบูลย์’
ด้าน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเอง แม้ในใจลึกๆ ไม่อยากได้ ‘ไพบูลย์’ แต่เมื่อ ‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ทุกคนไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ จึงก้มหน้าก้มตาโหวตให้ หากแต่การที่มีคนเสนอชื่อ ‘สาธิต’ ซึ่งอยู่ในโหล ครม.มาแข่ง ก็เหมือนเป็นการเปิดช่องให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ทั้งภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และวุฒิสภา มีทางออกในการจะโหวตสวนกับ ‘บิ๊กป้อม’
นั่นเพราะ ‘สาธิต’ เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่ ‘ไพบูลย์’ เป็นเพียง ส.ส.ด้วยศักดิ์และสิทธิ์ ‘สาธิต’ เหนือกว่ามาก พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาบางคนที่ไม่เอา ‘ไพบูลย์’ จึงโหวตให้ ‘สาธิต’ ได้
ภาษาสนุกเกอร์เรียกว่า เป็นการเอา ‘สาธิต’ มาวางสนุ้ก ‘ไพบูลย์’
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หักกับ ‘บิ๊กตู่’ เพราะ ‘สาธิต’ ก็คือคนในโควตา ครม.ที่เป็นเจ้าของร่างกฎหมายลูก
เรื่องนี้ถือป็นเกมสมประโยชน์ร่วมกันของคนที่ไม่เอา ‘ไพบูลย์’ อย่างแท้จริง
แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ เอง ที่เคยฮึกเหิมกำหนดเกมในสภาต้องกลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น จะย่ามใจเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายก็มีไพ่ในมือเยอะเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นจะถูกวางยาเหมือนครั้งนี้อีก
และคนที่น่ากลัวคือ พรรคภูมิใจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงอำนาจต่อรองสูง ใน กมธ.แก้ไขกฎหมายลูกครั้งนี้ พวกเขาไม่ได้มีแค่ กมธ.จากพรรคตัวเอง แต่ยังมีแนวร่วมที่เจรจาต่อรองกันได้ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
จับตาให้ดี ดีไซน์กฎหมายลูกหนนี้ พรรคภูมิใจไทยมีบทบาทสูง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่