หลัง ธรรมนัส พรหมเผ่า และพวก ออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ธรรมนัสก็เลือกที่จะใช้พื้นที่ทางโซเชียลมีเดียของตัวเองที่เป็นการสื่อสารทางเดียวในการสื่อสารทางการเมืองตลอดมา โดยพยายามเก็บตัว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์หรือทำกิจกรรมการเมืองอะไร
ดังนั้นพอเมื่อวันอังคารที่ 1 มี.ค. ธรรมนัสกับพวก ในพรรคเศรษฐกิจไทยเลือกที่จะเปิดตัวทำกิจกรรมทางสังคม ที่ชุมชนบริเวณโดมแฟลต 16 การเคหะท่าเรือคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ธรรมนัสมีเครือข่ายทางธุรกิจหลายอย่างในพื้นที่คลองเตย เช่น การบริหารตลาดคลองเตย-บริษัทรักษาความปลอดภัย ที่ทำให้ธรรมนัสไม่ใช่คนแปลกหน้าของคนคลองเตยแต่อย่างใด และเมื่อหลังทำกิจกรรมเสร็จก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อถึงประเด็นการเมือง ซึ่งหลายประเด็นน่าสนใจ เพราะเป็นการทำให้อย่างน้อย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ปลดธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้รู้ว่า ณ ขณะนี้ธรรมนัสและกลุ่ม ส.ส.เศรษฐกิจไทย คิดและมองการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะกับท่าทีของพรรคเศรษฐกิจหากมีการเปิดประชุมสภารอบหน้า แล้วมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ทางกลุ่มธรรมนัสพร้อมจะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ฝ่าด่านนี้ไปได้ด้วยการโหวตเสียง ไว้วางใจ ให้พลเอกประยุทธ์หรือไม่
โดยประเด็นดังกล่าว สื่อได้ถามธรรมนัสว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัยประชุมหน้า ยังยืนอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ
"เราประกาศชัดเจนว่าเราจะยืนอยู่ฝ่ายประชาชน หากรัฐมนตรีคนใดที่ถูกอภิปรายและมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าทำให้บ้านเมืองเสียหาย เราโหวตสวนแน่นอน เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำหน้าที่ต่อ ดังนั้นจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป"
พอถูกถามย้ำชัดๆ ว่า ตัวเลข 260 เสียง ที่จะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รวมพรรคเศรษฐกิจไทยใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า “260 เสียง ฝันไปหรือเปล่า ผมไม่ได้ว่าใคร แต่เอาตัวเลขมาจากไหน ใครๆ ก็นับมือได้ แต่ไม่มีพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่ในนั้นแน่นอน”
ส่วนที่หลายฝ่าย ประเมินกันว่า สุดท้ายแล้ว พรรคเศรษฐกิจไทยและกลุ่มธรรมนัสจะอยู่ในรัฐบาลและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้อยู่ครบเทอม หากว่าพลเอกประยุทธ์ปรับ ครม.โดยให้โควตารัฐมนตรีกับกลุ่มธรรมนัส ที่ตอนนี้ยังว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง หลังมีการปลดธรรมนัสออกจาก รมช.เกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ตั้งแต่เมื่อ 9 ก.ย.2564 ที่จนตอนนี้ผ่านมาร่วม 6 เดือนแล้ว พลเอกประยุทธ์ก็ยังไม่ปรับ ครม. และมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มธรรมนัสต้องการโควตารัฐมนตรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ หรือไม่ก็ รมว.ดิจิทัลฯ กับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพื่อแลกกับเสียงโหวตของ ส.ส.เศรษฐกิจไทยเพื่อช่วยให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม แต่ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ยังไม่ยอม การปรับ ครม.เลยยืดเยื้อมาหลายเดือน
ประเด็นนี้ก็ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ธรรมนัส พูดไว้หลังสื่อซักถามประเด็นนี้เช่นกัน กับคำถามที่ว่า โควตารัฐมนตรีของพรรคเศรษฐกิจไทยในการปรับ ครม.จะต้องได้หรือไม่ว่า "ไม่เอา เราไม่เอาตำแหน่งอะไรทั้งนั้น ไม่ได้ใส่ใจเรื่องตำแหน่งหน้าที่ในคณะชุดนี้"
พอถามอีกว่า เมื่อถามว่ามีโอกาสจะรับตำแหน่งใน ครม.ชุดหน้าหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า "การเลือกตั้งครั้งหน้าค่อยว่ากัน แต่ในรัฐบาลชุดนี้ไม่"
ก็ถือว่าเป็นท่าทีทางการเมืองที่เห็นชัดว่า ความบาดหมางทางการเมืองระหว่าง "พลเอกประยุทธ์-ธรรมนัส" ที่ร้าวลึกจนเกิดการแตกหัก มีการปลดธรรมนัสออกจาก ครม. จากผลพวงศึกซักฟอกเมื่อช่วงกันยายน 2564 และตามด้วยความพยายามจะปลดธรรมนัสออกจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐที่เคลื่อนไหวโดยรัฐมนตรีสายตึกไทยคู่ฟ้าที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามธรรมนัส แต่ไม่สำเร็จ เพราะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงมาห้ามศึกเสียก่อน แต่ก็ทำให้กลุ่มธรรมนัสไม่พอใจอย่างมาก และเริ่มคิดจริงจังมากขึ้นในการวางแผนแยกตัวออกจากพลังประชารัฐเพื่อไปตั้งพรรคการเมืองใหม่
ก่อนที่สุดท้าย ธรรมนัสจะออกจากพลังประชารัฐ กับมติขับพ้นสมาชิกพรรค เมื่อ 19 ม.ค. หลังพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพร แต่เป็นมติขับออกจากพรรค ที่แวดวงการเมืองมองตรงกันว่า เป็นแค่เรื่องการแก้ปัญหาในบ้านพลังประชารัฐของกลุ่มธรรมนัสกับฝ่ายตรงข้ามในพลังประชารัฐเท่านั้น ธรรมนัสไม่ได้แตกหักอะไรกับพลเอกประวิตร อีกทั้งพลเอกประวิตรก็ร่วมสนับสนุนการตั้งพรรคเศรษฐกิจไทยเสียด้วย เพื่อรองรับสถานการณ์วันข้างหน้าให้กับกลุ่มป่ารอยต่อฯ เสียด้วยซ้ำ
ร่องรอยความขัดแย้งต่างๆ ข้างต้น มาถึงตอนนี้ผ่านมาร่วม 6 เดือน ดูเหมือนจะยังคงอยู่ เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายพลเอกประยุทธ์กับกลุ่มธรรมนัสยังเคลียร์กันไม่ลง
ดูได้จากที่พลเอกประยุทธ์ยังไม่ยอมปรับ ครม. แล้วให้โควตารัฐมนตรีกับกลุ่มธรรมนัสและพรรคเศรษฐกิจไทยเสียที ทั้งที่พลเอกประวิตร ผู้จัดการรัฐบาลก็บอกหลายรอบว่า พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล
สิ่งเหล่านี้จึงน่าจะทำให้กลุ่มธรรมนัสเริ่มเห็นแล้วว่า จะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องมีลูกกระทุ้งการเมืองอะไรออกมาบ้าง เพื่อเร่งให้บิ๊กตู่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับพรรคเศรษฐกิจไทย บนเส้นตายคือ ต้องมีความชัดเจนก่อนศึกซักฟอกกลางปีนี้
เพราะไม่เช่นนั้น อย่าว่าแต่จะโหวต ไว้วางใจ ให้รัฐมนตรีที่ถูกยื่นซักฟอกเลย ก็อย่างที่ธรรมนัสออกมาสำทับล่าสุด ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยพร้อม โหวตสวน เลยก็ยังได้ ขอพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยย้ำว่าพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคอิสระที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สิ่งไหนที่รัฐบาลเสนอและเป็นประโยชน์ก็พร้อมสนับสนุน แต่เรื่องไหนที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนก็ไม่เห็นด้วย
แบบนี้มันก็คือการส่งสัญญาณพร้อมแตกหักของกลุ่มธรรมนัส แล้ว หากสุดท้าย เส้นทางการเมืองของธรรมนัสและ ส.ส.ในกลุ่ม ยังเคลียร์กันไม่ลงกับพลเอกประยุทธ์ ขณะที่ตัวพลเอกประยุทธ์เองที่ไม่ชอบให้ใครมาขี่คอ-กดดัน ก็คงมีเส้นแบ่งของตัวเองเช่นกันว่า จะยอมให้ได้แค่ไหน เพื่อประคองให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม แต่หากถึงจุดที่ยอมไม่ได้ ก็คงพร้อมตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
การเมืองช่วงปิดประชุมสภาที่ดูจะนิ่งๆ แต่เป็นความนิ่งที่ดูเหมือน จะรอการแตกหักช่วงกลางปีนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567