4 มี.ค.เดิมพันชีวิต-"วัฒนา" ยืนจำคุก 50 ปีหรือยกฟ้อง?

 วันศุกร์ที่ 4 มีนาคมนี้ เวลา 14.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังการอ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ใน คดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 195 ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกา เมื่อ 24 ก.ย.2563 ที่ตัดสินจำคุกวัฒนา เพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ซึ่งศาลฎีกา ได้ตัดสิน และต่อมาศาลฎีกาให้ประกันตัววัฒนา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท

อันเป็นคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายวัฒนากับพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 

ซึ่งจำเลยในคดีดังกล่าวที่ดังๆ นอกจากวัฒนา ก็มีเช่น อภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว ที่ก็ถูกตัดสินจำคุกในคดีบ้านเอื้ออาทรเช่นกัน โดยคำพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า เสี่ยเปี๋ยงได้อ้างว่าเป็นที่ปรึกษาให้กับนายวัฒนาขณะเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ แบบไม่เป็นทางการ ที่ศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี จำคุกจริง 50 ปี เพราะมีหลักฐานเส้นทางการเงินและมีพฤติการณ์จากคำให้การของพยานที่เป็นนักธุรกิจที่เข้าไปรับงานการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรว่าถูกเสี่ยเปี๋ยงและพวกเรียกรับเงินค่าตอบแทนเพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนได้รับสัญญาการก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาติให้ก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยมีการทำเป็นขบวนการกับจำเลยอีกบางคนในคดีนี้ โดยมีการรับเงินทั้งที่เป็นเงินสดและโอนเป็นเช็คเข้าบัญชีหลายทอดเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เช่น มีการนัดมอบเงินสดๆ หลายล้านบาท จากบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ โดยพบว่าเสี่ยเปี๋ยงและพวกเจรจาเรียกรับเงินค่าตอบแทนกับบริษัทเอกชนรวม 11 บริษัท และพบว่าการจ่ายเงินดังกล่าว บางบริษัทใช้วิธีลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายของบริษัทว่า เป็นค่าตอบแทนในการว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ โดยในชั้นสอบสวนมีการกันบริษัทเอกชนที่ให้เงินดังกล่าวไว้เป็นพยานเพื่อมัดตัวการใหญ่อย่างเสี่ยเปี๋ยง

นอกจากนี้ก็ยังมี อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช.-อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ที่ตอนนี้หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ที่เคยเป็นข้าราชการการเมืองในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาก่อน โดยในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุตอนหนึ่งว่า นายอริสมันต์ได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง โดยมีการบอกว่าจะช่วยให้บริษัทได้รับสัญญาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยขอค่าตอบแทนเป็นเงินหลายสิบล้านบาท แต่ตกลงกันไม่ได้ และมีการปรับลดเงินลงมา และต่อมาพบเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายเช็คจากบริษัทดังกล่าวให้กับคนใกล้ชิดของอริสมันต์ หลังบริษัทได้รับสัญญาการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่ตอนสู้คดี ฝ่ายอริสมันต์อ้างว่าเป็นค่านายหน้าขายที่ดิน ไม่ใช่เงินสินบน เป็นต้น

ซึ่งพบว่าพฤติการณ์เครือข่ายทุจริตบ้านเอื้ออาทรมีการวางแผนการรับเงิน-โอนเงินหลายทอดมาก เช่น บางรายขบวนการดังกล่าวให้บริษัทเอกชนโอนเงินสินบนเงินเข้าบัญชี ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีชื่อนำหน้าเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นเจ้าของร้านอาหารดังกล่าวก็ทำการโยกย้ายเงินออกจากบัญชีไปยังบัญชีเครือข่ายในเวลาอันรวดเร็ว 

ส่วนการลงโทษจำคุก วัฒนา เมืองสุข พบว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ลงไว้โดยละเอียดในลักษณะมองว่า เครือข่ายดังกล่าวที่ศาลฎีกาเห็นว่ามีการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ โดยที่อภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง มีการอ้างเรื่องการเป็นที่ปรึกษาของนายวัฒนา ขณะเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ไปเจรจาเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ไม่ได้ระบุว่า พบเส้นทางการเงินมีการโอนเงินเข้าบัญชีนายวัฒนา หรือคนใกล้ชิดแต่อย่างใด

ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา วัฒนา ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกา โดยได้แถลงปิดคดีด้วยการต่อสู้ในประเด็นที่ว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเกินกว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และก่อนหน้านี้ศาลไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงหลายเรื่องไม่เป็นความจริง เช่น การสั่งจ่ายเช็ค โดยอ้างว่านำไปให้ผู้ใหญ่ เพื่อตอบแทนการอนุมัติให้เซ็นสัญญาไม่ได้เกิดขึ้นสมัยที่เป็นรัฐมนตรี ประกอบกับ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้วไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเสี่ยเปี๋ยง ที่อ้างเป็นที่ปรึกษาของตนเอง 

ก่อนหน้านี้เมื่อ 19 ก.พ.2565 วัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยืนยันว่า จะไม่หนีคดี แน่นอน

"วันที่ 4 มีนาคม เวลา 14.00 นาฬิกา ผมจะไปศาลเป็นคนแรกเพื่อตามหาความยุติธรรมที่ผมรอมา 15 ปีแล้ว"

ทั้งนี้ นับแต่มีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมา พบว่าการอุทธรณ์คดีหลังศาลฎีกาตัดสิน คำอุทธรณ์ส่วนใหญ่ของจำเลยหรือผู้ต้องคำพิพากษา จะไม่ได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เนื่องจากรัฐธรรมนูญในอดีตคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้"

ซึ่งบทบัญญัติเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้คดีส่วนใหญ่ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพราะองค์คณะของศาลฎีกาเห็นว่าคำอุทธรณ์หรือข้อต่อสู้ของผู้ต้องคำพิพากษาไม่ได้เป็นพยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด เช่น คดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ของทักษิณ ชินวัตร ที่ทีมทนายความทักษิณเคยยื่นอุทธรณ์เช่นกัน แต่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา 

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 195 มีการลดทอนความเข้มข้นดังกล่าวลง โดยไม่ได้บัญญัติเรื่องว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ โดยบัญญัติแค่ว่า ให้จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา

การอ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกา ในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร วันที่ 4 มี.ค.นี้ นอกจากเป็นเดิมพันชีวิตของ วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองคนดังแล้ว หากสุดท้าย ถ้าผลการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแตกต่างไปจากตอนตัดสินคดีเดียวกันนี้ เมื่อปี 2563 ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องถูกพูดถึงตามมาอย่างมากแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย

ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’

สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’