ปิดสมัยประชุมสภา คลื่นลมการเมืองสงบ-รอพายุก่อตัว หลังเปิดรอบหน้า พ.ค.-ก.ย.65

โรดแมปตามปฏิทินการเมืองขับเคลื่อนไปตามลำดับ ล่าสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24-25 ก.พ.ที่ผ่านมา ผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ วาระแรกไปแล้ว

โดยในส่วนของร่างแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่มีปัญหามากนัก เพราะที่มีการเสนอกันไปสี่ร่างฯ ทั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี-ร่างของพรรคเพื่อไทย-ร่างของวิปรัฐบาลหรือ ส.ส.รัฐบาล รวมถึงแม้แต่ร่างฯ ของพรรคก้าวไกล ล้วนผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาทั้งหมด

แต่ที่ถูก ตีตก-คว่ำร่าง ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์กันคือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง ของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งของพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชาติ และ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ และร่างของพรรคก้าวไกลที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาในวาระแรก

หลังถูก ส.ส.รัฐบาล-สมาชิกวุฒิสภา ตั้งป้อมค้าน มาหลายวันแล้ว เพราะมองว่าเนื้อหาที่ฝ่ายค้านเสนอแก้ไขมา ไปไกลเกินกว่าการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งและระบบการบริหารงานของพรรคการเมือง เพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้

โดยประเด็นที่ถูก ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.หยิบยกมาเป็นประเด็นในการจับมือกันสอยร่วงร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองของฝ่ายค้านหลักๆ ก็คือกรณี พรรคเพื่่อไทย ที่เสนอแก้ไขมาตรา 28-29 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อ เปิดช่อง ให้คนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคสามารถให้ข้อคิดเห็น-คำแนะนำต่อพรรคการเมืองได้ ที่ถูกอภิปรายคัดค้านว่าเป็นการเสนอแก้ไขในประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ และเข้าข่ายลักษณะ หมกเม็ด-ยัดไส้ พ่วงมาด้วยเพื่อหวังเปิดช่องให้คนนอก โดยเฉพาะโทนี่ ทักษิณ ชินวัตร เข้าแทรกแซงพรรคเพื่อไทยได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยไม่เสี่ยงกับการถูกร้องเอาผิดกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ของพรรคประชาชาติ ที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และพวก ยิ่งไปไกลกว่านั้นคือ เสนอให้โละทิ้งมาตรา 28 และ 29 ออกไปทั้งหมดเลย ที่หนักกว่าของร่างฯ ของพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ

ส่วนร่างของ พรรคก้าวไกล พบว่าประเด็นที่ถูกอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยหลักๆ ก็คือ กรณีพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เพื่อ ตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการสั่งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคที่โดนตัดสินยุบพรรค

ในทางการเมืองมีการมองกันว่า เป็นเพราะพรรคก้าวไกลที่มาจาก พรรคอนาคตใหม่ ที่โดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไปจากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงทำให้พรรคก้าวไกล แค้นฝังหุ่น กับศาลรัฐธรรมนูญ รอบนี้เลยทวงแค้นด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อขอตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกทักท้วงไม่เห็นด้วย โดยมองว่าหากพรรคการเมืองไม่ได้กระทำผิดอะไร ก็ไม่เห็นต้องกลัวศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค อีกทั้งเป็นการเสนอแก้ไขในประเด็นที่ไม่สอดรับกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ โดยมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วน โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา มองว่าเป็นการเสนอแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง จึงไม่สามารถลงมติให้ผ่านไปได้

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ลงมติออกเสียงให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองทั้งของเพื่อไทย-ประชาชาติและก้าวไกล ผ่านวาระแรกไปได้

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ทำใจแต่แรกแล้วว่าคงโดนตีตกสอยร่วงแน่นอน

โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมรัฐสภา และพอเสร็จชั้นกรรมาธิการก็จะนำทั้งสองร่างฯ กลับมาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตในวาระสองและวาระสามต่อไป โดยคาดกันว่าจะส่งไปให้รัฐสภาได้ในช่วงสมัยประชุมรอบหน้ากลางปีนี้ 

เมื่อทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปตามลำดับ ดังนี้ จึงทำให้โรดแมปการเมือง โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่การเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งตามปกติหากสภาอยู่ครบเทอมและการเลือกตั้ง กรณีเกิดการยุบสภา กลไกทางกฎหมายเพื่อรองรับการเลือกตั้งจึงมีการเตรียมไว้แล้ว

ดังนั้นไม่ว่าสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ครบเทอมตามอายุขัยสี่ปีของสภาชุดนี้ คือมีนาคม 2566 หรือว่าจะ ยุบสภา เสียก่อน หากการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับข้างต้นเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีการเตะถ่วง ดึงเกม ยื้อเวลา กระบวนการบังคับใช้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับน่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ คือไม่น่าจะเกินเดือน ก.ค.-มิ.ย.2565

ภายใต้แนววิเคราะห์การเมืองที่มองกันว่า หากพลเอกประยุทธ์ไม่แน่ใจในเสียงสนับสนุน โหวตไว้วางใจ ของตัวเองว่าจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาที่มีอยู่ ตอนช่วงถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในการประชุมสภาสมัยหน้าที่จะเปิดกันวันที่ 22 พ.ค.ไปจนถึง ก.ย.2565 พลเอกประยุทธ์ก็อาจจะยุบสภาก่อนฝ่ายค้านยื่นซักฟอก เพื่อไม่ให้กลายเป็นนายกฯ คนแรกของประเทศไทยที่ต้องหลุดจากตำแหน่งกลางสภา เพราะเสียงโหวตไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

เรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่าพลเอกประยุทธ์มั่นใจในเสียงโหวตของตัวเองตอนถูกยื่นซักฟอกแค่ไหน?

 หากมั่นใจ พลเอกประยุทธ์คงพร้อมจะเสี่ยงเดินหน้าเข้าสู่เวทีซักฟอก แต่หากไม่มั่นใจเพราะเกรงว่าจะถูก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง ส.ส.พรรคเล็กอะไรต่างๆ มา ขี่คอ-กดดันทางการเมืองในช่วงศึกซักฟอก เพื่อแลกกับเสียงโหวตไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ก็อาจตัดสินใจถอดปลั๊กอายุรัฐบาลไว้แค่กลางปีนี้ด้วยการยุบสภา เพราะไม่อยากเสี่ยงเดินเข้ากองไฟศึกซักฟอก แล้วถูก ส.ส.-นักการเมือง กดดันต่อรอง-บีบไข่ จนเสียความเป็นตัวของตัวเองไป 

พลเอกประยุทธ์จะเลือกแบบไหน คาดว่าก่อนถึงการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า สักกลางๆ เดือน พ.ค. พลเอกประยุทธ์คงต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจแล้ว

นอกจากนี้มีการมองกันว่าหากพลเอกประยุทธ์ฝ่าด่านศึกซักฟอกไปได้ ก็ยังต้องเจออีกด่านสำคัญคือการ ยื่นตีความ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแปดปี ที่ฝ่ายค้านจะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงใกล้ๆ สิงหาคม 2565 หลังฝ่ายค้านมองว่าพลเอกประยุทธ์ไม่น่าจะอยู่ในตำแหน่งได้เกินกว่านั้น เพราะการอยู่ในตำแหน่งแปดปีตามรัฐธรรมนูญต้องนับจากสิงหาคม 2557 ที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรกตอนหลังรัฐประหาร คสช. ปี 2557 ไม่ใช่นับจากหลังเลือกตั้งปี 2562

ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ฝ่าด่านตีความวาระแปดปีบนเก้าอี้นายกฯ ไปได้อีก แล้วลากรัฐนาวารัฐบาลจนถึงเดือน พ.ย. ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ที่ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ช่วงปลายเดือน พ.ย.2565 ซึ่งจะมีผู้นำหลายประเทศทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย หากไม่เกิดสถานการณ์แทรกซ้อนโควิดระบาดหนักในประเทศไทย 

รวมถึงช่วงจังหวะเวลาดังกล่าวที่การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ น่าจะประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว ตลอดจนกฎหมายสำคัญของรัฐบาลอย่าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็มีผลบังคับใช้ รัฐบาลมีการจัดสรรเม็ดเงินลงไปในหน่วยงานต่างๆ ครบหมดแล้ว ผนวกกับถ้ารัฐบาลอยู่จนไปถึงช่วงเดือน พ.ย.ได้ ก็เท่ากับตอนนั้นรัฐบาลมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงครบหมด โดยเฉพาะในหน่วยงานสำคัญๆ ที่มีผลทางการเมืองทั้ง

กองทัพ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-กระทรวงมหาดไทย

เพื่อจัดวางคนที่ตัวเองไว้วางใจให้ไปอยู่ใน ตำแหน่งหลัก เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ที่จะมาแทน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. หรือการจัดทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ที่ทั้งหมดจะเป็นการ จัดทัพแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี-บิ๊กข้าราชการล็อตสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ชุดปัจจุบัน

หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ถึงตอนนั้นคนก็มองกันว่าพลเอกประยุทธ์อาจจะประกาศ ยุบสภา ปลายปีนี้ เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ บัตรสองใบ ในช่วงต้นปี 2566

กระนั้น ว่ากันตามจริง หากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจไปจนถึงปลายปีนี้ มันก็เหลืออีกแค่สามเดือนก็เดือนมีนาคม 2566 ที่ครบเทอมสภาสี่ปีพอดี

               ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ฝ่าสารพัดด่านการเมืองสำคัญๆ กลางปีนี้ไปได้

เชื่อได้เลยว่า พลเอกประยุทธ์ไม่มีทางยุบสภาแน่นอน เพราะอีกแค่อึดใจเดียวก็เดือนมีนาคม 2566

แล้วมีหรือพลเอกประยุทธ์จะไม่อยากเขียนประวัติศาสตร์การเมืองให้ตัวเองว่าเป็นนายกฯ ที่อยู่จนครบเทอม  

               แต่สุดท้าย สเต็ปการเมืองทุกอย่างจะเดินไปตามนี้หรือไม่ คงต้องรอดูกันไป เพราะการเมือง ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

โรดแมปการเมืองแต่ละช่วงที่ลำดับไว้ข้างต้น ไม่แน่อาจมีสถานการณ์การเมืองแทรกซ้อนจนเกิดการพลิกผัน และทำให้หน้ากระดานการเมืองเปลี่ยนไปจากที่คนคาดหมายก็ได้

เพียงแต่ช่วงนี้ที่การเมืองอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาไปจนถึง  22 พ.ค. มันก็ทำให้ความร้อนแรงทางการเมืองย่อมลดลงไปจากตอนช่วงเปิดประชุมสภาค่อนข้างมาก ผลก็คือ ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้ผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้น และทำให้ได้มีเวลาในการเตรียมพร้อมรับมือกับพายุการเมืองหลายระลอกที่จะโถมเข้าใส่ หลังเปิดประชุมสภาสมัยหน้า

 ที่แวดวงการเมืองมองกันว่า พายุการเมืองที่พลเอกประยุทธ์ต้องเจอตอนเปิดประชุมสภารอบหน้าอาจไม่ใช่แค่ทำให้ซวนเซ แต่อาจถึงขั้นทำให้รัฐบาลเจียนอยู่เจียนไปก็ได้หากไม่เตรียมพร้อมรับมือให้ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์