ดีเดย์เลือกตั้ง กทม.-พัทยา

เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ที่ห่างหายมาอย่างยาวนานจากวงการหย่อนบัตร

 โดยครั้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2 รูปแบบนี้ เริ่มจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดคือ 3 มี.ค.2556 ส่วนเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาย้อนกลับไปเมื่อ 17 มิ.ย.2555

 จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งทั้ง 2 แห่งล้วนเกิดก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นได้มีการเว้นว่างจากการเลือกตั้ง แต่ตัวผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และนายกเมืองพัทยายังสับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการแต่งตั้งจาก คสช.

                    ความเป็นไปได้ที่คนกรุงและคนพัทยาจะได้ออกมาใช้สิทธิ์ในเร็ววันนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นัดหารือกับกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงความพร้อมการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา

หลังจากหารือกันเสร็จสิ้นจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 23 ก.พ. และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้น กกต.จะประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยาต่อไป

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งหลังรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาในช่วงเดือน พ.ค.2565 ระดับคณะทำงาน 2 หน่วยงานได้มีการหารือกันก่อนหน้านี้ และมีการจัดทำแผนการทำงาน โดยคาดว่าวันที่ 8 มี.ค. กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งทั้ง 2 รูปแบบ

 ต่อมาช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ กกต.ทราบ และช่วงวันที่ 21-31 มี.ค. กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยา โดยภายใน 5 วันหลังจาก กกต.ประกาศก็จะเริ่มรับสมัคร

 ส่วนวันเลือกตั้ง ได้มีการยืนยันจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าการเลือกตั้งทั้ง 2 แห่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือน พ.ค. ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. หรือวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. ขอให้รอดูเมื่อกระทรวงมหาดไทยเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อดูวันและเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

ปัจจุบันสำนักงาน กกต.ประจำกรุงเทพมหานคร และสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดชลบุรีอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนที่จะเสนอ กกต.วินิจฉัยและออกประกาศเพื่อให้มีผลใช้บังคับ

ซึ่งเชื่อว่าจะทันกับการจัดการเลือกตั้งที่มีขึ้น โดยในส่วนของกรุงเทพฯ จะใช้เขตกรุงเทพฯ เป็นเขตเลือกตั้ง มีผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 1 คน ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพฯ ใช้เกณฑ์พิจารณาตามจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564

และตามกฎหมาย ตลอดจนระเบียบที่เกี่ยวข้องเห็นว่าไม่มีเขตปกครองใดในจำนวน 50 แห่ง ที่มีจำนวนราษฎรอยู่ที่จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมี 50 คนตามจำนวนเขตปกครองทั้ง 50 เขตที่เป็นเขตเลือกตั้ง

ขณะที่เมืองพัทยา ทางสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดชลบุรีมีการเสนอรูปแบบการแบ่งเขต 3 รูปแบบ ซึ่งทุกรูปแบบจะมีเขตการเลือกตั้งจำนวน 4 แห่ง จำนวนสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 6 คน ให้ กกต.พิจารณา โดยจะมีการเลือกนายกเมืองพัทยา 1คน และสมาชิกสภาเมืองพัทยารวม 24 คน 

มาดูทางฝั่งการเมืองถือว่าโหมโรงมานานพอสมควร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือแม้จะเป็น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่แม้จะเปิดตัวไม่นาน แต่ก็มีความต้องการที่ให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด กลับกันทางซีกรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ยื้อมาอย่างยาวนาน

โดยมีกระแสว่ายังเลือกผู้สมัครไม่ลงตัวว่าจะส่งใครลงชิงชัย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการลองเสียงอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมพังยับเยิน อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลพร้อมส่งผู้สมัครที่ตอบโจทย์คนเมืองแล้ว

ดังนั้นการเลือกตั้งมีกระแสชัดเจนแล้วว่าเกิดในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นสนามสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าคนกรุงและคนพัทยาไม่น้อย กำลังตั้งตารอคอยที่จะได้ออกไปใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า