รายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ไล่เรียงลำดับเวลาเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขมวดปมสิ้นสุดกระบวนการช่วงประมาณเดือน ก.ค.ปีหน้า
แต่ไฮไลต์สำคัญกว่านั้นคือ คำทำนายของ เนติบริกร ที่เตือนไปยัง ครม.ทั้งหลาย เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเสร็จสิ้น แล้วก้าวเข้าสู่เดือนสิงหาคม 65 จะเริ่มมีแรงกดดันให้ยุบสภา เริ่มมีการปั่นกระแสถึงการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วใช่หรือไม่
อันที่จริงสมัย “มีชัย ฤชุพันธุ์” นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยถกเถียงกันเรื่องนี้แล้ว “ในวง กรธ.” เคยระบุไว้ประมาณว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะนับรวมตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตอนยึดอำนาจหรือไม่ แต่ในทางกฎหมายเขาไม่ย้อนหลังกัน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 60
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา และยังไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังนั่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี ความจริงก็ถูกต้องแล้วของพรรคเพื่อไทย
แต่ในทางการเมืองถือเป็นการขุดขึ้นมาฟ้องประชาชนให้รู้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่ หากเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองใดชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีก และ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เป็นนายกฯ อีก ประเทศจะต้องเจอกับการตีความอายุดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กตู่”
ฉะนั้น หากอยากให้บ้านเมืองสมูทต้องตัดไฟแต่ต้นลม โดยการไม่เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ
วกกลับมาที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ประยุทธ์ กำชับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ช่วยให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลอย่าขาดประชุมโดยเด็ดขาด ให้ช่วยกันเข้าประชุมทุกครั้งที่มีกฎหมายสำคัญเข้าสภา
มีการมองว่านายกฯ คงเห็นแล้วที่ผ่านมาสภาล่มบ่อยครั้ง และหลายครั้งก็ได้ประธานในที่ประชุมช่วยชีวิตไว้ โดยการชิงปิดประชุมก่อนที่จะมีการนับองค์ประชุม แล้วชื่อ ส.ส.จะโดนประจานว่าผู้ทรงเกียรติฝ่ายใดกันแน่ที่สันหลังยาว ไม่มีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ประชุม
ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า นายกฯ ยังจำได้ถึงความพยายามของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิกาารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มือขวาของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.ทำไว้เจ็บแสบ โชคดีที่ไหวตัวทัน ไม่เช่นนั้นแผนการนี้อาจสำเร็จลุล่วงได้
ย้อนกลับไปที่เหตุศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการวางแผนจะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ให้พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีกระบวนการล็อบบี้ให้โหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
นายกฯ คงจะกลัวซ้ำรอยอีก จึงขอให้ ส.ส.ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
หลังจากศึกซักฟอกผ่านพ้นมา “พ่อตัวดี” โดนลดบทบาทใน ครม.ก็จริง แต่ในส่วนของพรรค “ลุงป้อม” พี่ใหญ่ของ กลุ่ม 3 ป. ยังคงเก็บผู้กองไว้ใช้งาน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่นายกฯ จะร้อนๆ หนาวๆ เสียวสันหลัง
แม้จะมีความพยายามสร้างภาพ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะรักกันดี สนิทใจเหมือนเดิม แต่ของแบบนี้เจ็บไม่มีวันลืม และมันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ย่อมได้
เมื่อสมัยประชุมรัฐสภากลับมาเปิดอีกครั้ง มีกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับของรัฐบาลจ่อเข้าสู่การพิจารณา เช่น พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ กฎหมายปฏิรูปต่างๆ และอาจจะมี พ.ร.ก.กู้เงิน อีกฉบับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอ และเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน
ขืนมีคนคิดไม่ซื่อรับงานมาก่อหวอดเล่นเกมในสภา ปล่อยให้ ส.ส.เข้าประชุมบ้าง ไม่เข้าบ้าง ไม่ได้กำชับให้อยู่ประชุมจนจบ อาจพลาดท่าให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งท่าจ้องขอนับองค์ประชุมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อประมาณจากสายตาแล้วเห็นว่า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมีจำนวนน้อย
การที่นายกฯ กำชับให้ ส.ส.รัฐบาลเข้าประชุมทุกนัดที่มีกฎหมายสำคัญเข้า ไม่ใช่เพราะกลัวฝ่ายค้าน แต่กลับกลายเป็นว่ากลัวพรรคพวกเดียวกันจะวางยา ดังนั้นจึงเลือกที่จะส่งสัญญาณโดยตรงผ่านสื่อให้ทุกคนทราบอย่างพร้อมเพรียง ดีกว่าเจอแปลงสาร
เพราะถ้ากฎหมายสำคัญโหวตไม่ผ่านขึ้นมา เสียงฝ่ายค้านมากกว่า รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกทันที.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9
เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
บิ๊กโตโยต้าเยือนไทยย้ำร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์
'บิ๊กโตโยต้าญี่ปุ่น' เยือนไทย ให้ความมั่นใจ นายกฯขอยืนหยัดร่วมกับไทยส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์รูปแบบใหม่ต่อไปย้ำ คุณภาพรถยนต์ผลิตในไทยมาตรฐานเดียวกันกับญี่ปุ่น