บทเรียน 'ถวิล' ทิ้งปชป. ไม่ผลักดัน 'กระจายอำนาจ'

เลือดไหลไม่หยุด สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในฐานะหัวหน้าพรรค กรณีล่าสุดมีรายงานว่า วันศุกร์นี้ เวลา 10.00 น. นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. จะไปยื่นหนังสือลาออก ณ ที่ทำการพรรค

สาเหตุสืบเนื่องมาจาก หัวหน้า “จุรินทร์” มาพร้อม นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรค นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรค ร่วมกันเปิดตัว 3 ม้าใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมประเดิมสนามเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า  

ประกอบด้วย 1.นายราชิต สุขพุ่ม อดีตผู้ว่าฯ ปัตตานี 2.นางอวยพรศรี เชาวลิต ประธานสภา อบจ.นครศรีฯ และ 3.นายพิชิตชัย เดชเดโช น้องชายของนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีฯ เป็นนักกฎหมาย และกรรมการสาขาพรรค เขต 6 นครศรีฯ

                    สร้างความรู้สึกน้อยใจให้ “สุรเชษฐ์” อดีต ส.ส.นครศรีฯ หลายสมัย เพราะตั้งแต่แสดงเจตนารมณ์ไปว่าจะลงสมัคร ส.ส.ต่อในนามพรรคกับผู้บริหารพรรค แต่กลับไม่มีสัญญาณตอบกลับแต่อย่างใด

                    สุดท้ายก็มีข่าวเปิดตัวเลือดใหม่เอาดื้อๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งรอบหน้า ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่พิจารณาให้ “สุรเชษฐ์” ลงสนามแข่ง ฉะนั้นก็ต้องโบยบินหาพรรคสังกัดใหม่

โดย นายสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า “ผมได้โทร.หานายชำนิ แต่นายชำนิไม่รับสาย ทั้งยังไปนั่งร่วมพิธีในการเปิดตัวกับเลือดใหม่โดยไม่เหลียวแลอดีต ส.ส.เก่าของพรรคที่เป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างนี้จะให้ผมเข้าใจว่าอย่างไร ที่ผมเงียบไป 2-3 วัน เพราะได้ตัดสินใจแล้วว่าต้องเลือกเดินให้ชัดเจน ซึ่งน่าแปลกว่าทำไมผู้บริหารพรรคถึงประกาศตัวผู้สมัครเพื่อจับจองพื้นที่ก่อน ทั้งที่ กกต.ยังแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เสร็จ ทำเช่นนี้ก็ชี้ให้เห็นเจตนาว่ามีการจัดคนไปลงในเขตเลือกตั้งไว้ล่วงหน้าแล้วหรือไม่”

 นอกจากนี้ในสัปดาห์เดียวกันก็ยังมี นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตประธานคณะกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ลาออกเช่นกัน

ที่พีกที่สุดคือการไปสมัครเป็นสมาชิก พรรคก้าวไกล ซึ่งในทางการเมืองดูเหมือนจะเป็นพรรคอุดมการณ์คู่ขนานกับ “ประชาธิปัตย์” แบบที่ไม่สามารถหาทางบรรจบกันได้ เพราะจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างแตกต่างกัน  

  ทว่า “ถวิล” เปิดใจว่า ตนตัดสินใจไปพรรคก้าวไกลนานแล้ว ไม่ใช่ด่วนตัดสินใจ เนื่องจากนับแต่เลือกตั้งปี 62 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เน้นหนักที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นงานที่ตนถนัด เพราะที่ผ่านมาได้รับมอบหมายในเรื่องนี้ แต่หลังจากเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ผลักดัน ยืนยันไม่ได้ทะเลาะหรือขัดแย้งกับใครในพรรคประชาธิปัตย์ และมาอยู่ก้าวไกลก็ไม่ได้มาขอรับตำแหน่งอะไร ไม่ขอลงเลือกตั้ง ส.ส.

"ยืนยันอุดมการณ์ตรงกับพรรคก้าวไกลเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือการกระจายอำนาจท้องถิ่น ส่วนอุดมการณ์ด้านอื่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ตรงกันแน่นอน "นายถวิลกล่าว

                    การเสีย “ถวิล” ให้กับพรรคก้าวไกล ทางผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันทางการเมืองต้องคิดให้หนัก เพราะเขาออกไปด้วยอุดมการณ์เกี่ยวกับการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่พรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์” ไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งที่ความจริงนโยบายนี้เป็นเรื่องที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัย นายมารุต บุนนาค อดีต ส.ส.กทม.แล้ว แต่ ปชป.ก็เก็บดองเอาไว้

                    อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นถือเป็นประเด็นที่เป็นความก้าวหน้าของประเทศ แต่ที่ยังทำไม่สำเร็จก็คงเพราะนักการเมืองต้องการรวบตึงอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อที่จะได้สั่งซ้ายหันขวาหันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งการจะให้พรรคที่อยู่มานานในทางการเมืองผลักดันคงจะลำบาก เพราะผูกพันเชื่อมโยงอยู่กับหลายภาคส่วน ดังนั้นทางออกเดียวก็ต้องยกให้การกระจายอำนาจเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองใหม่ที่ยังยึดโยงกับระบบต่างๆ น้อย

                    ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จากนี้คงต้องตอบให้ได้ว่าความก้าวหน้าของตัวเองคืออะไร

เพราะถ้ามองเพื่อนบ้านโดยรอบเขาชัดเจนแล้ว เช่น พรรคภูมิใจไทย จุดเด่นคือการผลักดัน กัญชาเสรี พรรคก้าวไกลผลักดัน สุราเสรี สมรสเท่าเทียม พรรคไทยสร้างไทยของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” คือบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท กองทุนเพื่อคนตัวเล็ก พรรคกล้าจุดขายคือเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะในสายตาประชาชนรากหญ้า เขายังคงเชื่อมั่นในนโยบายและฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ตั้งแต่ ยุค นายทักษิณ ชินวัตร ที่มีนโยบายประชานิยมที่โดดเด่น เช่น กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น 

ดังนั้น ประชาธิปัตย์ จะมัวแต่คาดหวังกับ “ประกันรายได้เกษตรกร” ที่เป็นมาตรการการเยียวยามากกว่านโยบายคงไม่เพียงพอแล้ว มิเช่นนั้นเลือดคงไหลไม่หยุด และจะสู้ศึกเลือกตั้งที่ไร้จุดขาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์