‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ชื่อนี้เข้าหูกันมาสักพักใหญ่ๆ เพราะมีข่าวว่า ‘แรมโบ้อีสาน’ - เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ดอดไปจดจัดตั้งไว้นานนม ตั้งแต่สมัยมีข่าวพรรคอะไหล่ผุดเป็นดอกเห็ด
ชื่อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ โผล่มายุคใกล้เคียงกับ ‘พรรคเศรษฐกิจไทย’ เมื่อครั้ง ‘ปลัดฉิ่ง’ - ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ถูกวางตัวเป็น เพลย์เมกเกอร์ ก่อนจะพับแผน กระทั่งต่อมาถูก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เทกโอเวอร์เอาไปรังใหม่
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ทั้ง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ และ ‘เศรษฐกิจไทย’ ในขณะนั้น เกิดจากแนวคิดการหานั่งร้านอันใหม่ให้ ‘บิ๊กตู่’ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เนื่องจากปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรี จนภาพลักษณ์ของพรรคติดลบ
เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ‘กบฏ’ วางแผนล้ม ‘บิ๊กตู่’ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียอีก แต่ขณะนั้นได้รับความสนใจเพียงแป๊บเดียวก็เงียบหายไป
กระทั่งความขัดแย้งระหว่าง บิ๊กตู่ กับ ผู้กองธรรมนัส ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ‘บิ๊กป้อม’ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคกลับพยายามโอบอุ้ม ร.อ.ธรรมนัสเอาไว้
ข่าวคราวเรื่อง ‘2 ป.’ คือ ‘บิ๊กตู่’ และ ‘บิ๊กป๊อก’ - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ออกไปตั้งพรรคใหม่จึงกลับมาอีกครั้ง เพราะไม่สามารถร่วมงานกับ ร.อ.ธรรมนัสได้อีก
เรื่องนี้เคยมีการนำไปพูดให้ พล.อ.ประวิตรฟังมาแล้ว ในเหตุการณ์ 6 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ผนึกกำลังกับ 2 ป. เพื่อเขี่ย ร.อ.ธรรมนัสออกจากพรรค ซึ่งตอนแรกเหมือนจะสำเร็จ แต่แค่เพียงข้ามคืนภารกิจกลับล้มเหลว เมื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ยังเลือกที่จะกระเตงหอกข้างแคร่ของ ‘บิ๊กตู่’ อยู่
ตอนนั้น 1 ใน 6 รัฐมนตรี พยายามคะยั้นคะยอ พล.อ.ประวิตร ให้เอา ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งแม่บ้านพรรค โดยอ้างเหตุการณ์กบฏ และการแทงข้างหลังรัฐมนตรีคนอื่นๆ ภายในพรรค แต่คำตอบที่ได้คือ เขาทำงานดี
1 ใน 6 รัฐมนตรีต้องถึงขั้นงัดไม้ตายกับ พล.อ.ประวิตร ว่า หากไม่เอาออก ‘บิ๊กตู่’ จะไปตั้งพรรคใหม่ “นายครับ หากเขายังอยู่ เดี๋ยวนายกฯ ก็ไปตั้งพรรคใหม่อีก” แต่คำตอบที่ได้คือ “นายกฯ ตั้งพรรคใหม่กูก็เลิก”
จังหวะนั้น ‘บิ๊กป้อม’ ยืนยันที่จะไม่ทำอะไรกับ ร.อ.ธรรมนัสทั้งสิ้น ทำให้เรื่องพรรคสำรองของ ‘บิ๊กตู่’ กลับมามีความเคลื่อนไหวแบบจริงจังอีกครั้ง
คีย์แมนสำคัญใกล้ ‘บิ๊กตู่’ บางคนถูกมอบหมายให้ไปสร้างเรือนชานรอเอาไว้แบบเงียบๆ นำโดยนายเสกสกล และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการการเมือง
นอกจากนี้ยังมีตัวละครบิ๊กเนมบางคนเข้ามาช่วยกันทำ โดยเฉพาะในรายของ ‘บิ๊กแป๊ะ’ - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่หันหลังให้สนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
และยังว่ากันว่า พรรครวมไทยสร้างชาตินี้มีแบ็กอัพระดับสูงคอยค้ำให้อีกชั้น เป็นอดีตนายทหารชื่อดังอักษรย่อ ‘ด.’ ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะน้องเลิฟ ‘บิ๊กตู่’
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ปรากฏชื่อ ‘พรรคไทยสร้างสรรค์’ โดยมี ‘เสี่ยตั้น’ - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ร่วมมือกับอดีตแก๊ง กปปส. และทีมลุงตู่เป็นแม่งาน
‘พรรคไทยสร้างสรรค์’ ไม่ได้เป็นดำริของ ‘บิ๊กตู่’ หากแต่ทุกย่างก้าวของพรรคนี้ ‘เสี่ยตั้น’ รายงานให้ทราบทุกระยะว่ากำลังทำอะไร
2 พรรคนี้ถูกมองว่าจะเป็นนั่งร้านของ ‘บิ๊กตู่’ ในอนาคตแน่นอน และตอนนี้ดูเหมือน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จะเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า หลังตัวละครลับค่อยๆ ถูกเปิดออกมา
‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้ต้องการสร้างพรรคขึ้นมาแข่งกับ ‘บิ๊กป้อม’ หากแต่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ มันผุพังเกินกว่าที่นายช่างที่ไหนจะซ่อมแซมและรีแบรนด์ได้ การสร้างบ้านหลังใหม่จึงง่ายกว่า
ขณะเดียวกัน ‘บิ๊กตู่’ ไม่ต้องการเผชิญปัญหาแบบเดิม ที่จะให้ ส.ส.นักการเมืองมานั่งต่อรอง จนไม่เป็นอันบริหารประเทศ การทำพรรคใหม่โดยถอดบทเรียนจากพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ‘บิ๊กตู่’ เองไม่เคยออกมาปฏิเสธสักครั้งว่า กระแสพรรคสำรองไม่ใช่เรื่องจริง เช่นเดียวกับการจะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคเองก็ยังถูกกั๊กกันจนถึงวันนี้
เมื่อปล่อยให้คลุมเครือ ทุกอย่างจึงเป็นไปได้หมด เพียงแต่สุดท้ายแล้วจะไปอยู่พรรคไหน และบริบทใดเท่านั้น
จะ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ หรือ ‘ไทยสร้างสรรค์’ หรือจะพรรคอื่น แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ ‘พลังประชารัฐ’ ที่เป็นไปได้สูงว่า จะไม่ได้อยู่ในกระดานการเมืองรอบหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี