สภาฯ อับปาง ล่มซ้ำซาก อย่าประเมินกระแสสังคมต่ำ

แม้จริงอยู่ว่า ระบบ สภาฯ เสียงข้างมาก พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้าน หากเกิดกรณี สภาฯ ล่ม-องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการการประชุมต่อไปได้ ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองก็คือ พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ส.รัฐบาล ในฐานะที่ไม่อยู่ทำหน้าที่ในห้องประชุมสภาฯ ไม่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตัวเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องตำหนิ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ละเลยหน้าที่ของตัวเอง ไม่รู้จักการแบ่งหน้าที่-แบ่งเวลาของตัวเอง

แต่ทว่าหลังเกิดปรากฏการณ์สภาฯ ล่มซ้ำซากบ่อยครั้ง โดยมีสถิติว่า สภาฯ ชุดปัจจุบัน สภาฯ ล่มไปแล้วถึง 16 ครั้ง จุดนี้ที่เริ่มเห็นในระยะหลัง ก็คือกระแสสังคมเริ่มตั้งคำถามถึง

"การทำหน้าที่ของสภาฯ ชุดปัจจุบันในภาพรวม ทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ใช่แค่กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น"

โดยพบว่า เสียงก่นด่า-การตั้งคำถามของคนในสังคม ไม่ใช่แค่ในโซเชียลมีเดีย แต่สังคมโดยรวมต่างตั้งคำถามถึงภาพรวมการทำงานของสภาฯ เพราะเริ่มมองว่า ส.ส.ฝ่ายค้านเองก็ต้องการใช้เรื่องสภาฯ ล่มมาเป็นประเด็นการเมืองกดดันรัฐบาลมากเกินไปหรือไม่

ทั้งที่สภาฯ-ฝ่ายนิติบัญญัติ มีทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่ง ส.ส.ทุกคนต่างก็ได้เงินเดือน-ค่าตอบแทน-สวัสดิการต่างๆ ที่ล้วนเป็น ภาษีประชาชน ทั้งสิ้น

สังคมจึงต้องการเห็นการทำหน้าที่ของสภาฯ แบบไม่เอาการเมืองมาเล่นกันมากเกินไปในสภาฯ จนทำให้ภาพรวมการทำงานของสภาฯ เดินต่อไปยาก เพียงเพราะต้องการหวังผลทุกเม็ด จนเป็นการห้ำหั่นกันจนเกินพอดี จนภาพรวมสภาฯ เสียหาย เป็นสภาฯ ที่ทำงานไม่คุ้มค่าภาษีประชาชน

มีการให้ข้อมูลในเชิงตั้งคำถามถึงภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายให้การทำงานของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่น่าสนใจ โดย พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า ที่ระบุตัวเลขเมื่อ 3 ก.พ. หลังประชุมสภาฯ ล่มครั้งที่ 15

"เงินเดือน ส.ส.+ทีมงาน 8ตำแหน่ง อยู่ที่ 242,560บาท/เดือน ...คิดเป็นเงินวันละ 8,085 บาท/ ส.ส.x ส.ส.ทั้งหมด 473 คน = 3.82 ล้านบาท/วัน

ค่าสถานที่รัฐสภา วันละ 360,000 บาท/วัน (โดยเป็นค่าห้องอาหารขนาดใหญ่ 500 คน, ที่จอดรถ 900 คัน, ห้องบริวารอื่นๆ อีก 12 ห้อง, ค่าน้ำไฟ, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าพนักงานทำความสะอาด, ค่าพนักงานดูแลจัดรถ, ค่าเจ้าหน้าที่ รปภ.และอื่นๆ) ค่าใช้จ่าย 4,180,000 บาท/วัน

เมื่อรวม "สภาฯ ล่ม" มาแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง = 58.5 ล้านบาท!!!"

และให้ความเห็นย้ำอีกครั้งหลังสภาฯ ล่มครั้งที่ 16 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

"ล่มบ่อยกว่าเน็ต ก็สภาฯ นี่แหละ… #สภาฯ ล่มครั้งที่ 16

คุณเอือมมั้ยครับ???

  • นักการเมืองไม่มาทำงานสภา.. ทั้งที่ตั้งท่า ไหว้ย่อมาแต่ไกล ตอนหาเสียง
  • เอางบประมาณไปเล่นชักเย่อ เกมการเมืองเก่าๆ..จนไม่ครบองค์ ปิดประชุม
  • เอาโอกาสคนไทยที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิต จากกฎหมายใหม่ที่จะได้อนุมัติ..มาด้อยค่า

และทั้งหมด "สภาฯ ล่ม" 16 ครั้ง ก็ผลาญเงินภาษีเราเรียบร้อยกว่า 66.8 ล้านบาท!!!"

ยิ่งเมื่อมีการแสดงความเห็นทางการเมืองจากนักการเมือง 2 พรรคฝ่ายค้าน คือ เพื่อไทย-ก้าวไกล หลังสภาฯ ล่มเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สังคมก็ยิ่งเห็นอะไรหลายอย่างทางการเมือง ภายใต้การขบเหลี่ยมทางการเมืองของ 2 พรรคดังกล่าว ที่มีฐานเสียง-กลุ่มเป้าหมายทางการเมืองกลุ่มเดียวกัน จึงทำให้มักมีการเขม่นกันในทีหลายครั้ง

เพราะพบว่า ทางก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยไว้เมื่อ 5 ก.พ.ว่า "วันนี้ที่มีรายงานคลองไทยเข้า มติพรรคร่วมกำหนดว่าห้ามแสดงตน เพื่อทดสอบองค์ประชุมของรัฐบาล ส.ส.ก้าวไกลส่วนใหญ่ยึดตามนั้น แต่ปรากฏว่าเป็นเพื่อไทยไม่ปฏิบัติตามมติ ก้าวไกลจึงตัดสินใจว่า เราจะยืนยันจุดยืนของเรา คือ การแสดงตน ในวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

เรื่องคะเนกันว่าสุดท้ายประยุทธ์จะยุบสภาฯ ถ้าสภาฯ ล่ม บ่อยๆ เห็นล่มไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ก็ไม่เห็นจะยุบสักที เกมที่เล่นกันอยู่แทนที่จะทำลายประยุทธ์ กลับทำลายเครดิตสภาฯ ทำลายความหวังประชาชน ไม่ต่างกับการเมืองเก่า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเมืองและความน่าเชื่อถือต่อประชาชนระยะยาว"

ทั้งนี้ รายงานเรื่องคลองไทยฯ ดังกล่าวคือการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ของ กมธ.วิสามัญฯ ของสภาฯ ที่มีคนของเพื่อไทยคือ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย เป็นประธาน กมธ. ที่สุดท้ายที่ประชุมสภาฯ เสียงส่วนใหญ่คือ มีมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.

ขณะที่เพื่อไทย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แจงว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม ทำให้สภาฯ ล่ม ว่า เรื่อง “สภาฯ ล่ม สองครั้งในวีคนี้ หลายคนสับสนว่าเหตุใดเพื่อไทยจึงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม แตกต่างจากก้าวไกลที่อยู่เป็นองค์ประชุม”

"เหตุผลง่ายๆ คือเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย คือการยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และการที่สภาฯ ล่ม เป็นสัญญาณชี้ว่ารัฐบาลไม่อาจคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาฯ เร็วขึ้น"

สุดท้ายแล้วคงเป็นเรื่องที่ประชาชน จะติดตามและตัดสินกันว่า ปัญหาสภาล่มฯ บ่อยครั้งระยะหลัง ใครบ้างต้องรับผิดชอบ-ใครบ้างต้องปรับปรุงการทำงาน โดยเฉพาะวิปรัฐบาล ที่อาจถึงคราวต้องพิจารณากันแล้วว่าจะเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาลจาก นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ เป็นคนอื่นดีหรือไม่ หลังเห็นชัดว่าผลงานในการคุมเสียง ส.ส.รัฐบาล ต้องถือว่าสอบไม่ผ่าน  และสังคมมองอย่างไรกับการที่หากฝ่ายค้านจะใช้กดดันรัฐบาล จนทำให้ "สภาฯ ในภาพรวมเสียมากกว่าได้" ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมกันพิจารณาและติดตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

'จุลพันธ์' ยันใช้งบฯ 67 เหลื่อมปี 68 ไม่ขัดกม. อ้างในอดีตเคยทำมา เร่งถกกมธ.งบเพิ่มเติม

'จุลพันธ์' ยัน ใช้งบฯ 67 เหลื่อมปี 68 ไม่ขัดกฎหมาย อ้างในอดีตเคยทำมา เร่งประชุม กมธ.ฯถกงบเพิ่มเติม ก่อนเข็นบรรจุวาระ2-3 วันที่31 ก.ค.

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ