‘บิ๊กตู่’ สู้ขาลง เข้ามุมอับ ลุ้นทางรอดตามสถานการณ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลัง บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กักตัวครบ 7 วัน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างน่าสนใจถึงทิศทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต

โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กรุงเทพมหานคร ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย (พท.) อย่างยับเยิน และเป็นการแพ้แบบ แฮตทริก-3 ครั้ง ในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ทั้งที่เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร  

ประกอบกับเหตุการณ์ที่พรรค พปชร.ขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค พปชร. พร้อมสมาชิกรวม 21 คน พ้นพรรค และไปสังกัด พรรคเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่ลดลง และกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

“ฝ่ายค้านไม่สามารถโหวตคว่ำรัฐบาลได้ แต่ก็ทำให้ฝ่ายรัฐบาลบริหารจัดการเสียงโหวตในสภาแบบเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเช่นกัน การประชุมสภาที่ผ่านมาล่มถึง 16 ครั้งแล้ว และอย่าลืมกล้วยก็ยังมีอิทธิพลต่อการโหวตเสียงของ ส.ส.”

ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ประยุทธ์ขาลง" เนื่องมาจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว คุมเสียงในสภาไม่ได้ ฝ่ายค้านโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงกับเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าขาลงหรือขาขึ้น ผมก็เหมือนขึ้นบันไดลงบันไดทั้งวันนั่นแหละ มันขึ้นอยู่กับการทำงานมากกว่า การเมืองก็คือการเมือง"

พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า มันก็ไม่ได้ที่จะเลวร้ายจนกระทั่งมันแย่ไปทั้งหมด อย่างที่บอกไปแล้ว ก็คือการเลือกตั้งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อม และผมก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจอยู่ ไม่เป็นไรหรอก ไว้คอยดูเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ก็ค่อยว่ากันอีกทีแล้วกันเมื่อถึงตอนนั้น

ส่วนการยืนยันจะไม่ยุบสภาตอนกฎหมายลูกเลือกตั้งยังไม่เสร็จใช่หรือไม่ เพื่อให้บัตร 2 ใบตกไป นายกฯ บอกว่า "ผมยังไม่ยืนยัน นอนยันอะไรทั้งสิ้น"

"ผมเบื่อประเทศไทยไม่ได้ ผมเบื่อกับปัญหาไม่ได้ ผมต้องแก้ปัญหาให้กับพวกเขาไม่ว่าจะมาอย่างไร ผมก็สู้ทุกดอก สู้กับปัญหานะ ไม่ได้สู้กับคน ผมไม่ใช่เป็นศัตรูของใครทั้งสิ้น"

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่า "ไม่จำเป็นต้องสงวนเป็นนายกฯ ไปตลอดชาติตลอดชีวิต ไม่ต้องมากังวลว่าผมอยากจะมีอำนาจต่อไป แต่มั่นใจในเสถียรภาพรัฐบาล ส่วน 21 เสียงที่แยกออกไป" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ก็บอกว่ายังอยู่กับรัฐบาล และยืนยันว่ายังไม่มีความคิดที่จะปรับ ครม.

สรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินหน้าสู้ทุกรูปแบบ หากประสบปัญหาทางการเมืองก็พร้อมจะแก้ไขไปตามสถานการณ์ข้างหน้า

ส่วนท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส ที่โพสต์ข้อความ “ the enemy of my enemy is my friend”  ศัตรูของศัตรูคือมิตร" สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับคนการเมืองไม่น้อย เพราะประเพณีการเมืองไทยส่วนใหญ่จะถือคติ ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร แม้หลายคนไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการพาดพิงกันที่มากเกินไปแบบไร้วุฒิภาวะ เหมือนกับยังคับแค้นใจที่โดนนายกฯ ปลดจากเก้าอี้รัฐมนตรี

ที่น่าสนใจ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนด ได้แต่งตั้ง นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจในการตรวจสอบและติดตามผู้ค้าสลากเกินราคา พร้อมแต่งตั้งอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุก โดยยืนยันว่าในอนาคตจะพยายามทำให้ผู้ที่ได้รับจัดสรรโควตาไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ และจะไม่มีหวยราคาแพงอีกต่อไป

ถือเป็นการไล่ทุบ "หม้อข้าวผู้กองธรรมนัส" หรือไม่ โดย ร.อ.ธรรมนัสเคยรับกลางสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2563 ว่าตนเองมีอาชีพเป็น 1 ใน 5 เสือกองสลากกินแบ่งรัฐบาล มีรายได้เดือนละ 3 ล้านบาท แม้จะบอกว่าไม่ได้เป็นคู่ค้ากับกองสลากตั้งแต่ปี 2558 แต่เครือข่ายของเขาก็ยังค้าสลากกินแบ่งอยู่ ขณะที่ บิ๊กตู่ อยู่ในอำนาจมากว่า 7 ปี ไม่เคยจริงจังที่จะปราบลอตเตอรี่แพง ทั้งที่มีการร้องเรียนมาตลอด หากเป็นการ เอาคืน ก็คงมีการเอาคืนจากอีกฝ่ายเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส บินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกระแสข่าวว่าไปพบกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เช่นเดียวกับช่วงที่มีการเคลื่อนไหวล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วาง ก็มีข่าวสะพัดว่า ร.อ.ธรรมนัสต่อสายเจรจาทางการเมืองกับนายทักษิณด้วย ก่อนที่จะโดนปลดพ้น รมต.ในที่สุด  

ทางด้าน ทักษิณ หรือ โทนี่ วู้ดซัม กล่าวในวงเสวนาในคลับเฮาส์ของกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย พาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ตรงๆ ว่า การเมืองไทยจากนี้คงลำบาก เพราะจริงๆ แล้วต้องยอมรับว่าประยุทธ์อาจมีความตั้งใจดี แต่ว่าโลกเปลี่ยนเร็วมาก ประยุทธ์ตามวิธีคิดไม่ทัน แล้วปัญหาเดิมๆ บ้านเรายังอยู่ ไม่ได้แก้ เพราะพื้นฐานของประยุทธ์ไม่ได้มาจากประชาชน

พรรคทหารคือพรรคเฉพาะกิจ ...คุณธรรมนัสและพวกออกไปก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังมีที่อยู่ใน พปชร. เมื่อรวมเฉพาะกิจเสร็จก็แตกออกไป ไปตั้งพรรคใหม่ คราวหน้า พปชร.จะชูใคร ประวิตรเหรอ? ยังเดินไหวเหรอ? ซึ่งจริงๆ แล้วความขัดแย้งในพรรคอย่าบอกว่าไม่มี มันมีอยู่ ดังนั้นผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะอยู่ได้ไม่นานแน่นอน

คำพูดของทักษิณเหมือนกับประสานเป็นเสียงเดียวกับธรรมนัส และกระแทกไปที่ประยุทธ์อย่างแรง

แม้ ทักษิณ ออกจากประเทศไทยไป 16 ปีแล้ว แต่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ยังต้องการชี้นำสถานการณ์ทางการเมือง และยังบงการพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม

ทักษิณยังมีแนวร่วมจำนวนมาก ทั้งฝ่ายการเมือง กลุ่มมวลชน ภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา หรือแม้แต่แนวร่วมสากลอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่พร้อมผนึกกำลังโค่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในรูปแบบแยกกันเดิน ร่วมกันตี ใช้ทุกช่องทาง ทั้งปลุกม็อบไล่ ใช้ช่องทางกฎหมาย และเวทีสภาผู้แทนราษฎร

โดยในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ฝ่ายค้านขอเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อจะตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาล แม้จะไม่มีการโหวตลงมติ แต่เมื่อเปิดสภาสมัยสามัญในเดือน พ.ค.ก็จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง และจะเป็นช่วงเวลาอันตรายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

แม้ พล.อ.ประวิตร จะยืนยันว่า 21 เสียงยังอยู่กับรัฐบาล แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ ในจำนวน ส.ส.ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ 474 คนจาก 500 คน ซึ่งรัฐบาลจะมีจำนวน ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านไม่มากนัก ฝ่ายค้านไม่สามารถโหวตคว่ำรัฐบาลได้ แต่ก็ทำให้ฝ่ายรัฐบาลบริหารจัดการเสียงโหวตในสภาแบบเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเช่นกัน การประชุมสภาที่ผ่านมาล่มถึง 16 ครั้งแล้ว และอย่าลืม "กล้วย" ก็ยังมีอิทธิพลต่อการโหวตเสียงของ ส.ส.

โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการเงิน หากไม่ผ่านที่ประชุมสภา ก็จะถูกบีบให้ลาออกหรือยุบสภา

ล่าสุดการประชุมสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.พ. เพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ปรากฏว่าองค์ประชุมสภาล่มอีกเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยการประชุมนี้ จากการตรวจสอบการแสดงตนเป็นองค์ประชุมมี ส.ส.แสดงตนจำนวน 195 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมจำนวน 237 คน

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน ส่วน ส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 19 คน แสดงตนเพียง 1 คน คือนายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น ที่เหลืออีก 18 คนไม่แสดงตน ส่วนฝ่ายค้านมาโหวตเพียง 40 คน ซึ่งเป็นเจตนาที่ต้องการให้สภาล่มอย่างชัดเจน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “แบบนี้มันเป็นวิธีทางการเมืองหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ผมไม่สามารถไปสั่งใครได้ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา ทุกคนก็ต้องร่วมมือและเข้าไปร่วมกันพิจารณา ถ้าล่มอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้

ถ้าไปไม่ได้ก็มีทางเลือกด้วยการลาออกจากนายกฯ หรือ ยุบสภา คงไม่มีใครกล้ารัฐประหารอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองว่า ถ้ายุบสภาเกิดขึ้นมันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เอง ถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออกก็ออกได้ แต่คงไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกา เพราะการเขียน พ.ร.ก.นั้นคือการให้รัฐบาลกำหนดกติกาเอง ฉะนั้นมันจะเกิดปัญหา ทั้งนี้การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่การจัดการเลือกตั้งหลังจากยุบสภาเป็นเรื่องของ กกต.ทั้งหมด

ส่วนไทม์ไลน์กฎหมายลูก นายวิษณุ บอกว่า เร็วที่สุดคือช่วง ก.ค. แต่อาจจะช้ากว่านั้นก็ได้ เพราะเมื่อทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ทรงมีเวลาอีก 90 วัน ดังนั้นจะเป็นเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ได้ทั้งนั้น

แต่ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูกคงไม่มีใครอยากให้มีการยุบสภา เพราะจะเกิดล็อกทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประคองรัฐบาลไปให้นานที่สุด หากผ่านด่านสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือน พ.ค.ไปได้ ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ที่จะครบเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีเต็ม ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จะเจออีกด่าน เพราะจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าระยะเวลาการดำตำแหน่งของนายกฯ ครบ 8 ปี จะนับอย่างไร และครบเมื่อไหร่

ส่วนการแก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเคลียร์กับ พล.อ.ประวิตร จะกระโดดเข้ามาคุมพรรค พปชร.เอง หรือจะไปเริ่มต้นใหม่ที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พรรคไทยสร้างสรรค์ คงถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจแล้ว

ในสถานการณ์ต่อจากนี้ แม้เกมการเมืองจะเข้มข้นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ประกาศแล้วว่า พร้อมสู้ทุกดอก และแก้ไขไปตามสถานการณ์ ส่วนฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลงัดทุกกลยุทธ์หวังล้มรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ยังเผด็จศึกไม่ได้ ก็ต้องเล่นเกมไปตามสถานการณ์เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี