ดูเหมือนว่าแค่เริ่มต้นปี 2565 สถานการณ์ทางการเมืองก็เริ่มกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่า เกิดความเคลื่อนไหวมากมาย เรียกได้ว่าเกิดขึ้นแบบรายวัน ทั้งการเปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย รวมถึงการที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขับก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส. รวม 21 ราย และคะแนนนิยม พปชร.ที่ยามนี้ติดลบอย่างเห็นได้ชัด
ตอกย้ำด้วยความพ่ายแพ้แบบแฮตทริกในสนามเลือกตั้งซ่อม ทั้งสงขลา ชุมพร และหลักสี่ กทม. ที่ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องกุมขมับกับหน้าฉาก และคลื่นใต้น้ำเริ่มก่อตัวอาจกลายเป็นสึนามิ จนทำให้หลายฝ่ายต่างมองว่าอาจถึงเวลาแล้ว "บิ๊กตู่" จะต้องใช้โอกาสนี้ในการยุบสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้
ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็จี้ให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกคงอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจากปากของกุนซือฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่า "ถ้ายุบสภาเกิดขึ้นมันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก ส.ส. และพรรคการเมือง ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เองถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออกก็ออกได้ แต่คงไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกา เพราะการเขียน พ.ร.ก.นั้นคือการให้รัฐบาลกำหนดกติกาเอง ฉะนั้นมันจะเกิดปัญหา ทั้งนี้ กกต.จะต้องเตรียมในเรื่องการเลือกตั้ง การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่การจัดการเลือกตั้งหลังจากยุบสภา มันเป็นเรื่องของ กกต.ทั้งหมด"
จะเห็นได้ว่าตัวแปรสำคัญอยู่ที่กฎหมายลูก คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ซึ่งผู้จัดทำโดยคีย์แมนหลักคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่นำโดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้เตรียมการมาตั้งแต่ปี 2564
โดยการส่งสัญญาณล่วงหน้าไปยังบรรดาพรรคการเมือง ใจความสำคัญในหนังสือที่ กกต.ส่งถึงพรรคการเมือง จะพบ 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และตามระเบียบ กกต. 2.การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง 3.การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และ 4.การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
และล่าสุดได้มีหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงคำนวณ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดพึงมีตามที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 กำหนด โดยได้เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้า 3 รูปแบบ
ซึ่งขณะนี้ไทม์ไลน์ล่าสุด กกต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะต้องรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เสนอไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะส่งให้สภา
โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรก กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน แก้สัดส่วน ส.ส. จากเดิมกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน เปลี่ยนใหม่ใช้สูตร ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และประเด็นที่สองเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จากเดิมใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม (MMM) บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบแรกเลือก ส.ส.เขต และบัตรใบที่สองเลือกพรรคการเมือง นำคะแนนทั้งประเทศไปคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมือง
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ฝ่ายเกี่ยวข้องคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ส.ส. จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ต้องเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดเงื่อนไข รัฐสภาต้องดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายในกรอบ 180 วัน ทำให้ไทม์ไลน์การแก้กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ
ช่วงแรก ฝ่ายเกี่ยวข้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ที่ประชุมรัฐสภา ช่วงสอง ก.พ.-มี.ค.2565 ที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ช่วงสาม เม.ย.2565 มีแนวโน้มเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญลงมติวาระที่ 3 ช่วงสี่ พ.ค.-มิ.ย. ภายหลังลงมติวาระที่ 3 รัฐสภา ต้องส่งร่างกฎหมายลูกไปที่ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น
โดยหากไม่มีข้อทักท้วง ให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากมีข้อทักท้วง เห็นว่ามีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอก่อนส่งให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง หรืออาจจะเร็วกว่านั้นคือเดือน พ.ค.นี้
เมื่อกฎหมายลูก 2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่าเกมการเมืองจะร้อนแรงอีกครั้ง!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ