ตึกถล่ม-ภาพลักษณ์ติดลบ “สตง.”จำเลยสังคม รัฐบาลไล่บี้-คตง.รอเคลียร์

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญหายจำนวนมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตึก สตง.แห่งใหม่ ที่จะมาแทนตึก สตง.ปัจจุบันที่อยู่ซอยอารีย์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึง สัญญาการก่อสร้างตึก สตง. ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ในการก่อสร้าง เพราะเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวแม้จะทำให้อาคารหลายแห่งทั่วประเทศที่กำลังก่อสร้างได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็ไม่ถึงกับพังถล่มลงมาทั้งตึกแบบตึก สตง.

 จนกลายเป็นภาพที่ช็อกคนไทยและทั่วโลกที่เห็นภาพตึก สตง.ถล่มแบบต่อหน้าต่อตา

 ยิ่ง สตง.ที่เป็นองค์กรอิสระที่มีประวัติอันยาวนาน เป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่คู่ประเทศไทย-แผ่นดินสยามตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะมีประวัติมายาวนานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนมาเป็น สตง.ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเกิดก่อนรัฐสภาเสียอีก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์ของ สตง.ที่มีหน้าที่หลักคือ หน่วยรับตรวจ ทาง บัญชี-งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐ ทุกกระทรวง-องค์กรอิสระ-องค์กรศาล-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรมหาชน-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตั้งแต่ อบจ.-เทศบาลยัน อบต.

เรียกได้ว่า ทุกหน่วยงานที่ใช้เงินภาษีประชาชน อยู่ภายใต้ การตรวจบัญชี-งบการเงิน-งบประมาณรายจ่าย-สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง-สัญญาการรับเหมาก่อสร้าง และอื่นๆ เงินทุกบาททุกสตางค์ทุกหน่วยงาน ต้องถูก สตง.เข้าตรวจสอบได้หมด

โดยเฉพาะ งบก่อสร้าง ที่ สตง.จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ยิ่งพวกงบก่อสร้างขนาดใหญ่ สตง.จะเพ่งเล็งเป็นพิเศษ มีการตั้งสำนักพิเศษขึ้นมาดูแลตรวจสอบงบก่อสร้างโดยเฉพาะชื่อว่า สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถไปไล่ดูสัญญาการก่อสร้างได้หมดทุกหน่วยงาน เรียกผู้บริหารภาครัฐและคู่สัญญาเอกชนมาชี้แจงได้หมด หากติดใจสงสัยว่าสัญญาการก่อสร้างมีปัญหา หรือเข้าข่ายล็อกสเปก ทำให้รัฐเสียหาย

สตง.ไล่บี้หมด จนวงการรับเหมาก่อสร้างขยาดไปตามๆ กัน หากรู้ว่าจะโดน สตง.เข้าตรวจสอบ

ทำให้เมื่อเกิดเหตุตึก สตง.ถล่ม มีการตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาการก่อสร้างอาคารดังกล่าวว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ก็ทำให้ สตง.ที่เคยแต่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น เลยเจอสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสัญญาการก่อสร้างตึก สตง.กันอื้ออึง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ สตง.อย่างมาก ทำให้เมื่อรัฐบาลตั้งกรรมการสอบสวน มุ่งสอบใน 3 ประเด็นสำคัญคือ 1.ผู้ออกแบบ 2.ผู้รับเหมา และ 3.ผู้คุมงาน และขีดเส้นให้กรรมการรายงานผลภายใน 7 วัน ทำให้สังคมขานรับอย่างมาก

การที่องค์กร สตง.มีภาพลักษณ์ติดลบดังกล่าว ทำให้ผู้บริหาร สตง.อยู่นิ่งเฉยไม่ได้

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา สตง.ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงเหตุการณ์ตึกถล่ม โดยมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า

...สตง.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป

เอกสารข่าวของ สตง.ระบุว่า สตง.ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2561

-กระบวนการก่อสร้างอาคาร

 ได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท

- การบริหารสัญญาก่อสร้าง

สตง.ให้ความสำคัญกับการดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีการพิจารณาการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างอาคารในเขตกรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

 “กรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด สตง.ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้

สตง.ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท ต่ำกว่า ราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท” เอกสารข่าว สตง.ระบุตอนหนึ่ง

ด้าน ประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นผู้ลงนามสัญญาการว่าจ้างก่อสร้างตึก สตง.ดังกล่าว สมัยยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. แสดงความรู้สึกผ่านทีมข่าววิเคราะห์สถานการณ์ไทยโพสต์ว่า "รู้สึกตกใจ เสียใจ เศร้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก" โดยกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย

 “ยืนยันได้ว่า การว่าจ้างดังกล่าวทำอย่างโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลาง และเสนอมาราคาต่ำสุด จึงมีการตกลงสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้าง รู้สึกตกใจ เสียใจมาก ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผมก็พร้อมที่จะชี้แจงกับคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เรียกมาเมื่อใดก็พร้อมไปชี้แจงทันที”

ขณะที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่เป็นเสมือน "บอร์ดของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน" มีพลเอกชนะทัพ อินทามระ เป็นประธาน ซึ่งแม้ตอนนี้ คตง.หลายคนเตรียมลุกจากตำแหน่ง เพราะอยู่ครบวาระแล้ว ทาง คตง.ให้ข้อมูลว่า ทาง คตง.คงจะมีการเรียกประชุมกันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเรื่องเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม เพื่อให้นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง.ชี้แจงการก่อสร้างตึก สตง.ว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง อาจต้องสอบถามรายละเอียดสัญญาการก่อสร้างตึก สตง.ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไรหรือไม่ ความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากอะไร

“การที่ตึก สตง.ถล่ม จนมีผู้เสียชีวิต ส่งผลกระทบกับ สตง.ที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบ หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง สตง.มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบสัญญาการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของทุกหน่วยงานว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ มีการล็อกสเปกหรือไม่ แต่สุดท้าย ตึกของ สตง.กลับมีปัญหาเสียเอง เรื่องนี้ คตง.ไม่สบายใจ ต้องการฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าฯ สตง.และต้องการให้ สตง.ให้ความร่วมมือ ส่งข้อมูลทุกอย่างไปให้กรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพราะเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มครั้งนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ สตง.อย่างมาก” แหล่งข่าวที่เป็น คตง.คนหนึ่งระบุ

  รอติดตามผลการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะกรรมการ ที่รัฐบาล-กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้น ว่าสุดท้ายการสร้างตึก สตง.มีขยะซุกไว้ใต้พรมองค์กรอิสระอย่าง สตง.หรือไม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บททดสอบเก้าอี้ ‘นายกฯหญิง’ 7เดือนฝ่าหลาย ‘วิกฤตประเทศ’

อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน

จังหวะรุก‘ภูมิใจไทย’ 17ปี‘พรรคสีน้ำเงิน’

ในเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า “พรรคภูมิใจไทย” พลังและอำนาจทางการเมือง สามารถขึ้นมาเบียดและถ่วงดุลกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

ชิง2เก้าอี้ตุลาการศาลรธน. สว.สีน้ำเงินตัวปิดเกม

หลังที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

รัฐบาล‘พ่อ’กอดคอกันต่อ ขึง‘อิ๊งค์’รับหน้าเสื่อวิกฤต

คงเป็นเรื่องธรรมดาที่ “ทักษิณ ชินวัตร” พ่อของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะไม่ค่อยพอใจกับท่าทีของลูกพ่อเนวิน และแม่กรุณา ชิดชอบ อย่าง “ไชยชนก ชิดชอบ”

‘หนู’อุ้ม‘นก’ สยบรบ.แตก?

เรียกว่า “หัวจะปวด” หรือไม่ สำหรับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หลัง “เลขาฯ นก” ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลูกชายคนโตของ “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่พรรคฯ ประกาศในสภาเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ว่า “ผมนายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของนายเนวิน และนางกรุณา ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน”

กางแผนรับมือ"กำแพงภาษีทรัมป์" วัดฝีมือทีมกุนซือใหญ่"รอดหรือร่วง"

เขย่ากันรุนแรงสำหรับกำแพงภาษี “โดนัลด์ ทรัมป์” หลังประกาศนโยบาย “ภาษีต่างตอบแทน” ในหลายประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าด้วย และเริ่มวันที่ 9 เมษายน 2568 แล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยโดนภาษีถึงร้อยละ 36 ทำงานเข้ารัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน